top of page
นรธา

วิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เชื่อว่าความจริงมีหนึ่งเดียว

วิทยาศาสตร์มีมุมมองหนึ่งที่ระลึกอยู่เสมอว่าความจริงที่แต่ละคนพบนั้นอาจเป็นไปได้หลากหลาย แต่เหตุใดคนจำนวนมากจึงรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นคับแคบ คิดว่าวิทยาศาสตร์ไม่เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย และคิดว่าวิทยาศาสตร์นั้นดึงดันเอาแต่ความจริงของตนเองเป็นใหญ่ ภาพลักษณ์และความรับรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เหล่านี้อาจมาจากการตีความพฤติกรรมการนิยามในวิทยาศาสตร์ และส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมการให้ข้อสรุปของผู้ใช้งานวิทยาศาสตร์เองที่บางครั้งหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อจำกัดในงานของตนเอง



เมื่อพูดถึง “ความจริง” คนในสังคมมักหมายถึงความจริงที่มาจากบุคคลหรือจากเครื่องมือที่ใช้วัด หาใช่ความจริงที่ “อยู่ที่นั่น” ซึ่งเป็นความจริงคนละระดับกันในทางวิทยาศาสตร์

 

วิทยาศาสตร์กับการนิยาม



วิทยาศาสตร์มีวิธีการทำงานแบบชุมชน ซึ่งนิยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน วิทยาศาสตร์จึงมีกิจกรรมการให้นิยาม โดยแต่ละนิยามทางวิทยาศาสตร์มีขอบเขตที่ชัดเจน การนิยามมีเป้าหมายเพื่อกำหนดขอบเขตของสิ่งที่ผู้ศึกษากำลังพูดถึง และเพื่อให้ผู้ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์สามารถสื่อสารสิ่งที่กำลังศึกษานั้นได้ในวงกว้าง หาได้มีเป้าหมายเพื่อด้อยค่าความจริงบางประเภท และการนิยามก็ไม่ใช่การปฏิเสธการมีอยู่ของความจริงที่อยู่นอกนิยามด้วย การด้อยค่าความจริงบางประเภทนั้นไม่ใช่การกระทำของวิทยาศาสตร์ แต่อาจเป็นการกระทำของคนที่นำอคติของตนเองมาใช้โดยอ้างการนิยามทางวิทยาศาสตร์เสียมากกว่า


หากสิ่งใดไม่อาจนิยามได้ วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งนอกนิยามนั้น แต่จะระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นอาจเป็นความจริงหรือสามารถเป็นความจริงได้เช่นกัน เพียงแต่ในขณะนั้นสิ่งนั้นยังอยู่นอกการนิยาม ด้วยพฤติกรรมการนิยามนี้เองที่ทำให้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ดำเนินไปภายใต้ขอบเขตทีละเรื่อง



 

วิทยาศาสตร์เลือกที่จะคุยทีละเรื่อง เพื่อให้จบไปทีละเรื่อง


เช่นเดียวกันกับการประชุมที่มีขอบเขตของแต่ละวาระในการประชุมที่ชัดเจน บทสนทนาจะเกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับวาระการประชุมที่กำลังถูกพูดถึงเท่านั้น และประเด็นอื่นจะถูกเก็บไว้เพื่อพูดถึงในช่วงวาระอื่น

แม้วิทยาศาสตร์จะเชื่อว่าความจริงอาจมีได้หลากหลาย แต่ก็มักกล่าวถึงความจริงเพียงคราวละหนึ่งความจริง เนื่องด้วยความนิยมการนิยามที่ชัดเจน ทำให้ขณะที่กำลังศึกษาความจริงหนึ่ง ๆ มักเกิดการลดการกล่าวถึงความจริงอื่นขึ้นได้ ด้วยธรรมชาตินี้วิทยาศาสตร์จึงถูกเข้าใจผิดได้โดยง่ายว่าเขาเชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว แม้แท้จริงแล้วความจริงอื่นอาจยังอยู่ในการระลึกถึงของวิทยาศาสตร์เสมอ เพียงแต่ความจริงอื่นนั้นยังไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่จะนำมากล่าวถึงเท่านั้น แม้การพูดถึงความจริงเพียงทีละหนึ่งความจริงจะเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นจุดด้อยในด้านการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความจริงที่หลากหลายในคราวเดียวกัน (เช่นเดียวกับการประชุมที่ใช้วิธีพูดคุยให้จบไปทีละวาระอย่างชัดเจน ซึ่งแม้จะทำให้แต่ละประเด็นถูกทำให้กระจ่างและจบไปได้อย่างรวดเร็ว แต่การประชุมลักษณะนี้อาจทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นต่าง ๆ ที่อาจสามารถพูดคุยร่วมกันในคราวเดียวได้)


การนิยามและกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนให้แก่สิ่งที่ศึกษาเพียงคราวละหนึ่งอย่าง ทำให้วิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายใต้นิยามนั้นได้อย่างละเอียด และยังช่วยให้การสื่อสารในชุมชนมีประสิทธิภาพ ทำให้ความรู้ในชุมชนวิทยาศาสตร์รุดหน้าด้วยการร่วมกันศึกษาของคนจำนวนมากได้ เมื่อความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ถูกค้นพบจึงมักไม่ได้ถูกอ้างอิงผ่านมุมมองของคนใดคนหนึ่ง แต่ถูกอธิบายโดยลดบทบาทของผู้ค้นพบ สาเหตุหนึ่งคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมักมีผู้ศึกษาร่วมกันหลายคนจนไม่อาจให้เครดิตแก่ใครเพียงคนเดียว และอีกสาเหตุหนึ่งคือความรู้นั้นเกิดจากการตกลงในนิยามที่ตรงกันของทุกคน แต่ละคนจึงมีอิสระในการศึกษาภายใต้นิยามที่กำหนด ในวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบนั้นอาจไร้ตัวตน ต่างจากความรู้ที่ถูกพบนั้นซึ่งได้รับการใส่ใจเป็นดาวเด่นในแวดวง


 

ความจริงที่ “อยู่ที่นั่น” ในวิทยาศาสตร์



สาเหตุที่ผู้ศึกษามักถูกลดทอนความสำคัญลงนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากความเชื่อพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ว่า “ความจริงมีอยู่ที่นั่น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้มอง” หรืออีกนัยหนึ่งคือความจริงที่แท้นั้น “บริสุทธิ์” คำพูดนี้อาจเป็นความจริงหรืออาจไม่เป็นความจริงก็ได้ แต่กระนั้นวิทยาศาสตร์ก็ยังคงมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ ปัญหาสำคัญของความเชื่อนี้คือข้อจำกัดที่มีอยู่ในเครื่องมือที่วิทยาศาสตร์ใช้ในตรวจวัดความจริงนั้นเอง เพราะการตรวจวัดแต่ละครั้งจำเป็นต้องผ่านการมองด้วยมุมมองของใครสักคนหนึ่งหรือเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเสมอ ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการเข้าถึงความจริงนั้น “ไม่บริสุทธิ์” ตั้งแต่แรก


เมื่อข้อมูลที่พบในแต่ละครั้งนั้น “ปนเปื้อน” ด้วยมุมมองของมนุษย์และเครื่องมือ วิทยาศาสตร์จึงพยายามสลาย “สิ่งปนเปื้อน” ด้วยการใช้ผู้มองที่หลากหลายและใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อจะได้เห็น “ความจริง” จากหลายมุมมอง และเชื่อว่าการได้เห็นความจริงจากหลากหลายมุมมองจะช่วยปะติดปะต่อภาพโดยหักลบกลบอคติที่เกิดจากมนุษย์และเครื่องมือที่ใช้ จนทำให้สามารถสร้างข้อสรุปที่เข้าใกล้ความจริงได้มากที่สุด


เช่นเดียวกับเงาและแสงที่สาดส่องลงบนกำแพง หากไม่มีทางใดเลยที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเดินออกไปเพื่อมองเห็นวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดของแสงและเงาด้วยตาของตัวเองได้ วิทยาศาสตร์จะพยายามเปิดเผยว่าสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของแสงและเงานั้นมีรูปร่างอย่างไร โดยสังเกตลักษณะของแสงและเงาที่ตกกระทบบนกำแพงนั้น และอาศัยความร่วมมือของคนหลาย ๆ คน รวมทั้งใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นไปได้ ซึ่งข้อสรุปนั้นอาจตรงตามความเป็นจริง หรืออาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมากก็ได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า “ความจริง” ที่เราพูดถึงนี้มีอยู่อย่างน้อย 2 ระดับ ระดับหนึ่งคือ “ความจริงของผู้มอง” ซึ่งมีความหลากหลาย (“ผู้มอง” ในที่นี้หมายถึงทั้งมนุษย์ผู้ตรวจวัดและเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัด) วิทยาศาสตร์ใช้ความจริงนี้เพื่อนำไปสู่การมองเห็นความจริงอีกระดับหนึ่ง คือ “ความจริงที่อยู่ที่นั่น” ซึ่งวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีอยู่ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ได้เกี่ยวกับ "ความจริงที่อยู่ที่นั่น" อาจเป็นได้เพียง "ความพยายามที่จะเข้าใกล้ความจริงที่อยู่ที่นั่น” เท่านั้น เพราะการเข้าถึง "ความจริงที่อยู่ที่นั่น" มีข้อจำกัดเสมอ เนื่องจากอยู่ภายใต้บริบทของผู้มองดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น


 

วิทยาศาสตร์กับมุมมองต่อ “สิ่งที่ตรวจวัดไม่ได้”



เนื่องจากวิทยาศาสตร์รับรู้ข้อจำกัดของผู้มอง ดังนั้น หากเครื่องมือไม่อาจตรวจจับการมีอยู่ของบางสิ่งได้ วิทยาศาสตร์จะไม่สรุปโดยทันทีว่าสิ่งนั้นไม่มีจริง เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ว่าเครื่องมือที่มีนั้นอาจยังด้อยประสิทธิภาพเกินกว่าจะตรวจจับบางสิ่งนั้นได้ วิทยาศาสตร์จะสรุปเพียงว่า “ไม่สามารถตรวจวัดได้” หาใช่สรุปว่าสิ่งนั้น “ไม่มีจริง”


วิทยาศาสตร์ระลึกว่าสิ่งที่ยังไม่สามารถตรวจวัดได้นั้นอาจเป็นความจริงได้เช่นกัน เพียงแต่ในขณะนั้นยังไม่สามารถตรวจวัดได้ภายใต้เครื่องมือที่มี วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุ-ผล และคอยตรวจสอบความเป็นไปได้ที่หลากหลายเสมอ หากมีความเป็นไปได้ใดที่ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ วิทยาศาสตร์จะไม่ตัดความเป็นไปได้ใด ๆ ทิ้งไป และไม่สรุปโดยคิดเชื่อเอาเอง


 

การสร้างข้อสรุปภายใต้ข้อจำกัด


การสร้างข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นภายใต้การพิจารณาความเป็นไปได้อื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ ถึงกระนั้น คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างข้อสรุปใด ๆ ได้โดยพิจารณาทุกความเป็นไปได้ให้ครบถ้วนแท้จริง นั่นเพราะทุกสถานการณ์มีความเป็นไปได้ที่มากเกินกว่าจะสามารถพิจารณาได้ทั้งหมด วิทยาศาสตร์จึงสร้างข้อสรุปโดยระบุโอกาสและข้อจำกัดในความเป็นไปได้ของความจริงหนึ่ง ๆ ที่กำลังกล่าวถึงไว้ด้วยเสมอ เช่น “เป็นความจริง A ภายใต้ความเชื่อมั่นที่ 95%” จากประโยคนี้มีความหมายว่า มีโอกาสที่จะพบความจริง A ได้ 95 ครั้งในการตรวจสอบทุก 100 ครั้ง และมีโอกาสพบความจริงอื่นได้ 5 ครั้งในการตรวจสอบทุก 100 ครั้ง


ทุกสถานการณ์มีความเป็นไปได้ที่มากเกินกว่าจะสามารถพิจารณาได้ทั้งหมด วิทยาศาสตร์จึงสร้างข้อสรุปโดยระบุโอกาสและข้อจำกัดในความเป็นไปได้ของความจริงหนึ่ง ๆ ที่กำลังกล่าวถึงไว้ด้วยเสมอ

เนื่องจากความจริงที่วิทยาศาสตร์ตรวจวัดได้นั้นไม่มีความสัมบูรณ์ การให้ข้อสรุปในทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช้คำที่แสดงความสัมบูรณ์ เช่น “แน่นอน” หรือ “ทุกครั้งตลอดไป” เว้นแต่เป็นการบอกความถี่ของผลการตรวจวัดที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัด เช่น “ได้ผลลักษณะนี้ทุกครั้ง” หรือ “ได้ผลแบบนี้เสมอ” การใช้คำว่า “ทุกครั้ง” หรือ “เสมอ” ในกรณีแบบนี้คือการแจ้งความถี่ของการพบความจริงภายใต้ข้อจำกัด โดยในทางวิทยาศาสตร์ผู้ให้ข้อมูลจะระลึกถึงข้อจำกัดของบริบทที่กำลังพูดถึงเสมอ และหากเป็นไปได้ก็ควรแจ้งข้อจำกัดของบริบทให้ผู้ฟังได้รับรู้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการตีความที่เกินกว่าข้อจำกัด (overclaim) เช่น การพูดว่า “ได้ผลลักษณะนี้ทุกครั้ง” ควรบอกข้อจำกัดของบริบทที่กำลังพูดถึงด้วยว่า “ได้ผลลักษณะนี้ทุกครั้ง จากที่ฉันได้สังเกตในช่วงที่ผ่านมา” (ประโยคนี้ได้บอกข้อจำกัด 3 ชนิด คือ 1. ข้อจำกัดด้านผู้ตรวจวัด ความจริงนี้เกิดจากผู้ตรวจวัดคือ “ฉัน” หากคนอื่นตรวจวัดอาจพบความจริงลักษณะอื่นก็ได้ 2. ข้อจำกัดด้านเครื่องมือ ความจริงนี้ตรวจวัดโดยใช้การสังเกต หากใช้เครื่องมืออื่นอาจพบความจริงลักษณะอื่นก็ได้ และ 3. ข้อจำกัดด้านเวลา ความจริงนี้พบในช่วงเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น ในเวลาอื่นอาจพบความจริงลักษณะอื่นก็ได้)



ด้วยความยุ่งยากในการระบุข้อจำกัดของบริบทของความจริงที่กำลังพูดถึง การให้ข้อสรุปในทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นภาษาพูด (ไม่ได้สื่อสารในแวดวงวิชาการ) จึงนิยมใช้คำที่แสดงโอกาสในการพบความจริงหนึ่ง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดว่าการสื่อสารนั้นเป็นการเหมารวมความจริงแบบสัมบูรณ์ โดยเลือกใช้คำว่า “อาจจะ” “มีแนวโน้ม” “มีโอกาส” “ส่วนใหญ่” “มีความเป็นไปได้” ฯลฯ เพื่อให้ข้อสรุปนั้นแสดงเจตนาว่าคำกล่าวนั้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการเกิดความจริงแบบหนึ่ง ๆ เท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นการมีอยู่ของความจริงแบบอื่นที่อาจเป็นไปได้ด้วย


ด้วยการนิยามและการให้ข้อสรุปนั้นเอง ที่วิทยาศาสตร์ระลึกว่าแต่ละความจริงล้วนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง เพราะความจริงนั้นหลากหลาย และวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าไม่มีความจริงใดที่สามารถใช้ได้กับทุกบริบทอย่างแท้จริงนั่นเอง การจะเข้าถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์จึงไม่อาจคับแคบ ไม่อาจปิดกั้นความแตกต่างหลากหลาย และไม่อาจดึงดันเอาแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เพราะหากวิทยาศาสตร์คับแคบ ปิดกั้น และดึงดัน วิทยาศาสตร์ก็จะไม่มีทางเข้าถึง “ความจริง” ดังที่ตนเองตั้งใจเช่นกัน


Comments


bottom of page