top of page

อกหักควรขอลางานดีมั้ย ผู้ประกอบการว่าไงดี

จากทวีตที่เลื่อนผ่านไปเจอ ที่เดาว่าน่าจะเป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ระบายถึงการอกหักไว้ดังนี้ และตามกระทู้หรือช่องทางโซเชียลต่างๆ ก็มีการพูดถึงเหตุผลที่ลูกจ้างเคยใช้เป็นสาเหตุของการหยุดงานด้วยเหมือนกัน ความหนักอกหนักใจนี้มันสะท้อนถึงอะไรได้บ้าง และนายจ้างจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรกันดี



ปัจจุบันได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องปัญหาสภาวะทางจิตใจขึ้นมาพูดถึงและขยายความกันมากขึ้น น่าดีใจที่เริ่มมีการให้ความสําคัญและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์สูญเสียที่ผ่านๆ มา ที่มีสาเหตุมาจากความไม่ปกติทางใจที่มองไม่เห็นนี้ รวมถึงการให้ปรับทัศนคติการมองเรื่องการรับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นเรื่องปกติกันมากขึ้น



ซึ่งภาวะการเสียใจ โศกเศร้ากับการสูญเสียคนรักก็อาจจะเป็นหนึ่งในต้นเหตุของโรคทางจิตใจในระยะยาว จึงเกิดเป็นคําถามขึ้นว่า ถ้าพนักงานอกหัก เดินมาขอลาหยุด หัวหน้าหรือฝ่ายบุคคลควรมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างไร ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างและคําแนะนําจากผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา


 

หัวหน้างาน และ พื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงาน


หากหัวหน้าหงุดหงิดที่ลูกน้องไม่ตั้งใจทํางาน ไม่มีสมาธิจดจ่อ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สถานการณ์อาจจะแย่ลงและไม่ส่งผลดีต่อใครเลย

กรณีของไทย คุณ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ คอมลัมนิสต์และเจ้าของเพจ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ได้ตอบคําถามจากทางบ้านเรื่องที่มีพนักงานที่เพิ่งเลิกรากับแฟนหนุ่นและมีผลกระทบกับการทํางานไว้อย่างน่าสนใจ สามารถสรุปบทเรียนเป็นคําสั้นๆ ได้ คือ ความเห็นอกเห็นใจ หรือ (empathy) หัวหน้าหงุดหงิดที่ลูกน้องไม่ตั้งใจทํางาน ไม่มีสมาธิจดจ่อ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถรับรู้จากโทนเสียงได้เลยว่าผู้ตั้งคําถามนี้กําลังไฟลุกและพร้อมจะว่ากล่าวตักเตือน แต่จะกลายเป็นยิ่งเสียงานและเสียใจสถานการณ์อาจจะแย่ลงและไม่ส่งผลดีต่อใครเลย คําแนะนําจากบทความคือการที่หัวหน้าเปิดโอกาสให้ลูกน้องเข้ามาปรับทุกข์เป็นการส่วนตัว เพราะเมื่อใดที่ได้ระบายความอัดอั้นออกไปบ้าง ก็เหมือนความเสียใจมันบรรเทาลงเพราะได้รับการฟัง จากนั้นค่อยประเมินจากอาการลูกน้องคนนี้ว่าสามารถทํางานหรือหยุดพัก


ถ้าเห็นว่าอาการไม่สู้ดีก็ควรให้ลูกน้องได้กลับบ้านมีเวลาสงบจิตใจและได้ทบทวนเหตุการณ์ เพื่อรับมือกับปัญหาที่เจออยู่ได้อย่างมีสติมากขึ้น และกลับมาทํางานที่เรารัก ทําให้เรามีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตต่อไปกันเถอะ อกหักแล้วแต่อย่าต้องมาตกงานซํ้ากันเลย



 

คนมีอายุเยอะแล้วมีโอกาสน้อยลงที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ


ส่วนในกรณีของต่างประเทศ ก็มีการพูดถึงแนวทางรับมือกับปัญหาส่วนตัวนี้ไว้เหมือนกัน อย่างเช่น กรณีของ บริษัทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่ชื่อ บริษัทไฮมส์ แอนด์ คอมพานี ใจปํ้าและแหวกทุกกฎด้วยการเสนอวันลาหยุดให้ทันทีเมื่อพนักงานอกหัก ด้วยคํากล่าวของผู้บริการที่ได้ใจพนักงานแบบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ลาหยุด แต่เฉพาะคนที่อกหักเท่านั้น เพราะคนเราก็จําเป็นมีเวลาพักหัวใจกันบ้าง’


ทั้งนี้ยังใส่ใจถึงขนาดที่ว่า แบ่งเกณฑ์ระยะเวลาตามอายุไว้ด้วย ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งได้วันลาเยอะ เพราะให้เหตุผลว่า คนมีอายุเยอะแล้วมีโอกาสน้อยลงที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับใครและใช้เวลาเลียแผลใจนานกว่าคนอายุ 20 ต้นๆ ที่ล้มแล้วลุกได้เร็วกว่า พร้อมเปิดรับดูใจคนใหม่ต่อได้ แหมน่าช่างน่าอิจฉาพนักงานที่นี่จริงๆ ที่มีผู้บริหารที่เข้าอกเข้าใจแถมยังคิดเผื่อให้อีก


 

การลาหยุดได้ในกรณีมีธุระส่วนตัว หรือ personal time off (PTO)


จากบทความในเว็บไซด์ของ Forbes ได้มีการสัมภาษณ์จากฝั่ง HR และผู้เชี่ยวชาญทางจิตบําบัดกันด้วยเช่นกัน คุณ Heather Gatley ที่ทํางานให้กับ AlphaStaff บริษัทจัดหาบุคคลเข้าทํางาน ได้กล่าวไว้ว่า มีหลายๆ บริษัทที่ตอนนี้มีการให้เปิดให้พนักงานลาหยุดได้ในกรณีมีธุระส่วนตัวหรือ personal time off (PTO) ทั้งนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าลาหยุดได้โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลและคําอธิบายใดๆ เพิ่มเติมแบบที่เราๆ ต้องเขียนเมื่อต้องลาป่วย (ป่วยก็ต้องเขียนอธิบายความป่วยด้วยอ่ะเนอะ) ซึ่งมีจํานวนหลายบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีการตอบรับนโยบายนี้



ซึ่งทาง ดร.Sally Wright ที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันทางด้านจิตบําบัดของอเมริการก็ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การต้องรับมือกับปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นเรื่องยากที่จะก้าวข้ามความทุกข์ใจนี้ไป และมีเหตุผลเพียงพอที่จะยอมรับถ้ามีลูกจ้างเดินมาขอลาหยุด


จากทั้งหมดที่กล่าวมาก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าและนายจ้างเอง ที่จะให้มีการลาหยุดได้หรือไม่ โดยอาศัยการประเมินตามสถานการณ์เป็นกรณีๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการเล็งเห็นปัญหาด้านจิตใจนี้ให้มีบทสนทนากันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจและช่วยเหลือให้สามารถผ่านปัญหาอุปสรรคนี้ไปได้อย่างไม่โดดเดี่ยวนัก


#จันยี



bottom of page