top of page

สินสอด เรื่องไกลตัวที่หล่อเลี้ยงอำนาจใกล้ตัว

จากบทสนทนาใน Clubhouse ของ code O เรื่อง “ชอบก็ให้แม่มาขอ? สินสอดกับตัวตนในสังคม” เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564



“กิ่งทองใบหยก”

“หนูตกถังข้าวสาร”


คำพูดเหล่านี้มักใช้ในการอธิบายลักษณะของหญิงและชายที่กำลังแต่งงานกัน ว่าเขาเหล่านั้นเหมาะสมกันอย่างไร หากดูสมฐานะกันดีก็มักจะถูกเรียกว่าเป็น “กิ่งทองใบหยก” ในขณะที่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดูต่ำต้อยกว่าก็มักจะถูกเรียกว่าเป็น “หนูตกถังข้าวสาร” คำพูดเหล่านี้คงไม่ใช่คำที่บ่าวสาวใช้เรียกตัวเขาเอง แต่คือเลนส์ในการประเมินค่าที่มาจากคนรอบตัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน และคนรู้จัก หรือบางครั้งคนที่ไม่รู้จักก็ยังสอดส่องความคิดเข้ามาประเมินค่าของบ่าวสาวด้วย


 

สินสอด “สมฐานะ”


โดยทั่วไปสินสอดเป็นเงินที่ถูกเรียกโดยพ่อแม่ของฝ่ายหญิง โดยฝ่ายชายมีหน้าที่จัดหาเงินนั้นมาให้ก่อนแต่งงาน แต่จำนวนเงินนั้นจะมากหรือน้อยเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีใครกำหนดไว้ตายตัว ความรู้สึกอึดอัด อิหลักอิเหลื่อ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก นอกจากจะตกมาที่ฝ่ายชาย (ทั้งเจ้าบ่าวและพ่อแม่ของเจ้าบ่าว) ฝ่ายหญิงในบางครั้งก็ตกที่นั่งลำบาก โดยเฉพาะพ่อแม่ของเจ้าสาวที่ต้องตัดสินใจพูดออกมาว่า “จำนวนเงินเท่าใดที่เหมาะสม”


ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน พ่อแม่ของฝ่ายหญิงบางคนอาจรู้สึกว่าค่าสินสอดนั้นไม่ควรสูงเกินไป และหลายครั้งพ่อแม่ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่า “แค่สองคนรักกันก็เพียงพอแล้ว” แม้ว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสินสอดมากนัก แต่ด้วยสายตาของญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่จับจ้องและมักถามเชิงเปรียบเทียบเพื่อประเมินค่าเจ้าสาว จึงอาจทำให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจำนวนมากต้องหนักใจ และต้องตั้งราคาค่าสินสอดให้สูง “สมฐานะ” โดยประเมิน “คุณค่า” ของการจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงินของครอบครัว หน้าที่การงาน การศึกษา และความสามารถพิเศษต่างๆ ของผู้หญิง


 

ประกันความสามารถและความรักของฝ่ายชาย


สินสอดยังถูกใช้ในการรับประกันว่าฝ่ายชายจะสามารถทำมาหากินเลี้ยงดูแลฝ่ายหญิงได้ โดยเชื่อว่าหากฝ่ายชายสามารถจัดหาค่าสินสอดมาให้ได้ตามที่กำหนดไว้แล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าต่อไปฝ่ายชายจะสามารถดูแลครอบครัวได้ต่อไปหลังแต่งงานด้วย


นี่คงเป็นการประเมินเพียงเบื้องต้น และเป็นการตัดสินจากพฤติกรรมในจุดเวลาหนึ่งเท่านั้น มีตัวอย่างการแต่งงานของหลายคู่ที่สินสอดไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันที่ดี เพราะเมื่อแต่งงานไปแล้วฝ่ายชายอาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยส่งผลต่อความมั่นคงของครอบครัว และหากมองมุมกลับ ผู้หญิงก็มีหน้าที่ในการดูแลครอบครัวด้วยเช่นกัน แต่กลับไม่ต้องแสดงความสามารถหรือแสดงหลักประกันใดๆ ว่าตนเองจะสามารถทำมาหากินเลี้ยงดูประคับประคองครอบครัวไปได้ร่วมกับฝ่ายชายหลังแต่งงาน การกำหนดให้สินสอดเป็นหลักประกันความสามารถของฝ่ายชายจึงอาจเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และยังขาดมิติในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถของฝ่ายหญิงและชายที่จะดูแลความมั่นคงและมั่งคั่งของครอบครัวได้ในลักษณะ “ร่วมกัน”


 

กดทับหรือหนุนอำนาจให้หญิง


เงินสินสอดอาจเป็นการกำหนด “ราคา” ของการที่เจ้าบ่าวจะได้เป็นเจ้าของเจ้าสาว ทำให้หลายคนรู้สึกว่าสินสอดกำลังตีราคาของผู้หญิงด้วยเงิน เป็นการกดทับอำนาจของผู้หญิงให้ไม่สามารถเรียกร้องเสรีภาพของตัวเองได้ เสมือนว่าตัวเองได้ “ถูกซื้อ” และกลายเป็นสมบัติของฝ่ายชาย



หากมองในทางกลับกัน บางคนกลับมองว่าสินสอดทำให้ผู้หญิงนั้นมีอำนาจอยู่เหนือฝ่ายชาย เพราะในการแต่งงานนั้นฝ่ายชายเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับภาระในการจัดหาค่าสินสอด เสมือนว่าผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งของมีค่าที่ฝ่ายชายต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อให้ได้มา ในขณะที่ฝ่ายชายนั้นไม่มีค่าใดๆ ที่ฝ่ายหญิงจะต้องลงทุนลงแรงในการทำให้ได้มาเลย


ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมีโอกาสในการทำงาน ได้มีอาชีพที่ต้องการ ได้รับการเลื่อนขั้น และมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า เงินสินสอดจึงอาจกลายเป็นทรัพยากรหรือ “เงินทุนตั้งต้น” ที่ช่วยให้ฝ่ายหญิงสามารถดูแลตัวเองได้สะดวกมากขึ้น ..แต่เงินที่ฝ่ายหญิงได้รับจากสินสอดนี้คุ้มค่าจริงหรือ หากเงินส่วนนี้ยังคงหล่อเลี้ยงค่านิยมชายเป็นใหญ่ต่อไปโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างชายและหญิงในระดับต้นตอ


 

สายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด


เมื่อสินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายต้องจัดหาให้ฝ่ายหญิง ซึ่งบางครั้ง “ฝ่ายชาย” ในที่นี้ไม่ได้มีเพียง “เจ้าบ่าว” เพียงคนเดียว แต่หมายรวมถึงพ่อแม่หรือญาติของฝ่ายชายด้วย เมื่อการแต่งงานของคู่บ่าวสาวเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่และคนอื่นๆ ที่ลงทุนลงแรงร่วมกัน พ่อแม่และญาติจึงหลงเหลืออำนาจที่ยังคงมีบทบาทเหนือความคิดและพฤติกรรมของคู่บ่าวสาวแม้ได้แต่งงานและแยกเรือนกันไปแล้ว


กลไกนี้อาจช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยในสายตระกูลเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันการกระทำของอำนาจที่อยู่เหนือคู่รักนี้อาจทำให้หญิงและชายรู้สึกอึดอัดและขาดอิสรภาพในการตัดสินใจในครอบครัวใหม่ที่ตนเองสร้างขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสายสัมพันธ์ระหว่างคู่บ่าวสาวเอง และบางครั้งอาจทำให้เกิดความแตกร้าวลามมาถึงพ่อแม่และญาติพี่น้อง โจทย์ในเรื่องนี้จึงค่อนข้างซับซ้อนและต้องอาศัยบริบทที่เหมาะสมเพื่อให้สินสอดสามารถมีหน้าที่และขอบเขตในการกระทำของอำนาจที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียตามมา



 

อนาคตของสินสอด


เมื่อ “ความเท่าเทียม” เป็นคุณค่าที่สังคมไทยสมัยใหม่ให้ความความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ การแบ่งบทบาทหน้าที่ของชายและหญิงจึงลดอำนาจลง รวมทั้งการดำรงอยู่ของสินสอดซึ่งถูกตั้งคำถามและท้าทาย


หลายเสียงได้สะท้อนความเป็นไปได้ของการปรับบทบาทหน้าที่ของสินสอดในอนาคต เช่น การกำหนดให้ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร่วมกันจัดหาเงินสินสอดโดยไม่ต้องเป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว หรือการส่งมอบเงินสินสอดให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อให้คู่รักสามารถใช้เงินนั้นในการตั้งตัวและเริ่มต้นชีวิตคู่ได้อย่างสะดวกสบาย หรือการจัดตั้งกองทุนเงินสินสอดในงานแต่งงาน ซึ่งญาติ เพื่อน และผู้มาร่วมงานทุกคนสามารถร่วมกันบริจาคเพื่อเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว ทั้งหมดนี้อาจเป็นความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งซึ่งจะช่วยกันนิยามความหมายใหม่ของ “สินสอด” ในอนาคต และอาจทำให้หน้าที่ขององค์ประกอบต่างๆ ในงานแต่งงานต้องปรับตัวอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง



หาก “ชาย” และ “หญิง” เป็นเพียงสิ่งสมมติ สินสอดจะยังต้องถูกจำกัดให้เป็นบทบาทของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียวต่อไปอีกหรือ? มีความจำเป็นใดอีกที่บ่าวหรือสาวจะต้องมอบทรัพย์สินของตนเองให้แก่พ่อแม่ของอีกฝ่าย? ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและคนจำนวนมากไม่ได้ให้ค่าแก่การแต่งงาน สินสอดจะยิ่งทำให้คนหันหลังให้แก่แต่งงานหรือไม่? แม้แต่สินสอดก็ไม่อาจดำรงอยู่อย่างนิ่งเฉยแบบที่เคยเป็น


 

ติดตาม code O ใน Clubhouse : https://www.clubhouse.com/club/code-o

ดูรายละเอียดและกิจกรรมอื่นๆ : https://www.soulschoolsociety.org/codeo


บันทึกกิจกรรม: #จริงจัง

เขียนและเรียบเรียง: #นรธา

bottom of page