ในยุคปัจจุบัน ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนกลายเป็นโลกเดือด ปัญหาความยากจนที่พัฒนาจนกลายเป็นหลายมิติ และความไม่เท่าเทียมในมิติต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ หลายภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาตินั้น ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้อาจไม่สามารถทำได้ด้วยการดำเนินงานของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม
แนวคิดที่ว่า "ทุกปัญหาสามารถแก้ได้โดยรัฐบาล" ทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในทุกด้านของชีวิตประชาชน การคาดหวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมเป็นเรื่องที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเพิ่มภาระและหนี้สินของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศมีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินงาน แต่กลับพบว่าหลายโครงการนั้นไม่ได้ผลหรือสร้างผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งขึ้น เช่น งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาทในแต่ละปี แต่ไม่อาจยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จากตัวอย่างดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดบางอย่างที่รัฐเองก็อาจไม่สามารถปรับตัวและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบที่ชื่อว่า “ราชการ” อีกทั้งการผูกขายอำนาจในการบริหารจัดการรัฐสวัสดิการอาจทำให้ประชาชนเกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐที่หลากหลาย อาจทำให้ประชาชนหลายส่วนในสังคมไม่สามารถเข้าถึง และเกิดข้อจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับคนอื่น ๆ ในสังคม
เมื่อรัฐมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาสังคม ประชาชนจึงขอลงมือทำเอง
เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ประชาชนบางส่วนจึงต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหากันเองเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรจะมีเทียบเท่ากับคนอื่น ๆ ในสังคม ตัวอย่างเช่น การจัดทำโครงการอาสาต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งมูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร (Nonprofit Organization: NGO) เพื่อมุ่งเน้นแก้ปัญหาหรือเยียวยาเฉพาะเรื่อง หรือแม้แต่ จัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เน้นการแก้ปัญหาสังคมด้วยการประกอบการและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนในองค์กร ซึ่งวิธีการต่าง ๆ นี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดงบประมาณบางส่วนของรัฐที่อาจสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก แต่ยังส่งเสริมให้ประชาชนสร้างการมีส่วนร่วม มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในฐานะเจ้าของประเทศอีกด้วย
การพึ่งพาเพียงแหล่งทุนและเงินบริจาค อาจเป็นระเบิดเวลาของโครงการด้านสังคมที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้
โครงการไม่แสวงหากำไรในหลาย ๆ แห่ง มักพึ่งพาการบริจาค เงินสนับสนุน หรือเงินทุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดการณ์ได้ระยะยาว ทำให้การวางแผนระยะยาวเป็นไปด้วยความท้าทาย เมื่อเงินทุนหมดลง โครงการอาจต้องหยุดชะงัก อีกทั้งโครงการหลายแห่งยังมีปัญหาในการขยายผลกระทบออกไปนอกพื้นที่ดำเนินงาน และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ใหม่ ๆ อาจทำให้การตัดสินใจล่าช้า และเห็นผลกระทบทางสังคมที่กระจุกตัวจนไม่สามารถตอบสนองทันกับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบางองค์กรขาดนวัตกรรมหรือความโปร่งใสในการดำเนินงาน อาจทำให้ผู้บริจาคลดลงและไปสนับสนุนองค์กรที่มีความโปร่งใสและเปิดรับนวัตกรรมมากกว่าได้
แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อสร้างความยั่งยืนในการสร้างสรรค์สังคม
วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เป็นกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาผสมผสานกับความรู้และนวัตกรรมสังคม โดยมีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาค ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะนำกลับไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลกระทบทางสังคม ซึ่งคุณลักษณะสำคัญของกิจการเพื่อสังคม ได้แก่ มีเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบการดำเนินการที่ยั่งยืนทางการเงิน และมีการดำเนินการที่โปร่งใส
แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่สหราชอาณาจักร โดยเป็นทางเลือกในการดำเนินการที่แตกต่างจากธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ก็ได้พัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน โดยมีการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน
สำหรับในประเทศไทย แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมเองก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 โดยหน่วยงานนี้มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มีความยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงการให้คำแนะนำและฝึกอบรมในด้านการบริหารจัดการ การตลาด และเทคโนโลยี เพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถขยายตัวและเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศที่เป็นธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้พยายามส่งเสริมระบบนิเวศของวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยให้เติบโตขึ้น เช่น สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand), ChangeFusion, School of Changemakers, Ashoka Thailand เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันองค์กรที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วกว่า 286 แห่ง และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม จำนวน 122 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2567)
ปัจจัยสำคัญในการทำงานเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนฉบับ SE
การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของโครงการด้านสังคมนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น กำลังคน สวัสดิการ และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบการจัดการอาสาสมัคร เช่น Bloomerang Volunteer’s Management Solution ที่ช่วยในการสรรหาอาสาสมัคร การสื่อสาร และการจัดตารางเวลานั้นสามารถลดปัญหาการไม่เข้าร่วมของอาสาสมัครได้มากกว่า 20% ซึ่งระบบนี้ยังมีแอปพลิเคชันมือถือที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างอาสาสมัครและผู้จัดการ รวมถึงสามารถติดตามและรายงานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถปรับปรุงและประเมินผลการทำงานของอาสาสมัครได้อย่างรวดเร็ว
การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนก็นับเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมด้วย เช่น โครงการ "แบ่งปันให้" ที่เป็นตัวแทนการซื้อขายผลิตภัณฑ์ของผู้พิการ โดยผู้ประกอบการจ้างงานคนพิการตามสัดส่วนที่กำหนดและใช้สิทธิ์ตามมาตรา 35 ผลก็คือผู้ประกอบการมอบผลิตภัณฑ์แทนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และโครงการได้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ เช่น พื้นที่ของเอกชนและภาครัฐ โดยรายได้จากการจำหน่ายจะนำกลับมาให้ผู้พิการ นับเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างรายได้และความยั่งยืนในโครงการด้านสังคม
ดังนั้นการวางแผนและการจัดการที่ดีนับเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของโครงการเพื่อสังคม ลองฉายภาพโครงการของตนเองในอีก 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โครงการจะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร และทีมงานจะมีความมั่นคงอย่างไร หากไม่สามารถหาอาสาสมัครหรือแหล่งทุนสนับสนุนเพิ่มเติมได้ การวางแผนเช่นนี้จะช่วยให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนและไม่ล้มหายตายจากไป โดยอาจสามารถใช้เครื่องมือเช่น Social Business Model Canvas (SBMC) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการมนุษย์ ทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินงานด้านสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเพิ่มเติมจาก Business Model Canvas (BMC) ที่ใช้ในธุรกิจทั่วไปตรงที่มีการแยกกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ (Beneficiary segments) ออกจากกลุ่มลูกค้า (Customer segments) และการแบ่งคุณค่าที่ส่งมอบ (Value Proposition) ออกเป็นการส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ได้รับผลประโยชน์และลูกค้าแยกจากกัน ตัวอย่างเช่น การรับจ้างดูแลสวัสดิการผู้ป่วยติดเตียงที่มีทุนทรัพย์น้อยผ่านการจัดซื้อจัดจ้างจากโรงพยาบาลหรือองค์กรรัฐ โดยมองลูกค้าเป็นโรงพยาบาลหรือองค์กรรัฐ ในขณะที่คุณค่าที่ส่งมอบให้นั้นคือสวัสดิการให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่มีทุนทรัพย์น้อย ส่วนโรงพยาบาลหรือองค์กรรัฐตอบโจทย์ตัวชี้วัดตามแผนพันธกิจด้านการบริการสาธารณสุขให้กับผู้ป่วยทุกระดับ เป็นต้น
ความยั่งยืนของโครงการ ส่งผลต่อสวัสดิการของคนทำงานเพื่อสังคม
คนทำงานเพื่อสังคมนั้นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสังคมและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการเหล่านี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลบุคลากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและศักดิ์ศรีที่เทียบเท่าอาชีพอื่น ๆ ในตลาดแรงงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและสมน้ำสมเนื้อนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บุคลากรสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความเครียดจนเกินไป แม้ว่าการทำงานด้วยใจนั้นสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคม แต่ไม่ควรเป็นข้ออ้างที่ทำให้คนทำงานต้องทนกับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงลบเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากนี้สวัสดิการที่ดีนั้นสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการได้อีกทางหนึ่ง เช่น การมีประกันสุขภาพ หรือการสนับสนุนการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรมีแรงจูงใจในการทำงานและรู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลและให้คุณค่า การลงทุนในบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับโครงการ ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
สร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน ที่วิสาหกิจเพื่อสังคมให้ได้
วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นับว่าเป็นอีกแนวทางที่นำการประกอบการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การสร้างความยั่งยืนไม่เพียงแค่หมายถึงการดำเนินงานของโครงการให้ต่อเนื่อง แต่ยังรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่เป็นหัวใจหลักของโครงการด้วย การสร้างสรรค์สังคมต้องเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม และสวัสดิการที่เพียงพอเพื่อให้คนทำงานและทีมงานสามารถกินอิ่มนอนหลับและมีความสุข ความยั่งยืนที่แท้จริงเกิดจากการดูแลทั้งกลุ่มเป้าหมายของโครงการและบุคลากรที่ทำงานด้วยใจ การลงทุนในคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง ทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการได้อย่างต่อเนื่องและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างแท้จริง
#วอลเตอร์จู
เอกสารอ้างอิง
[1] Bloomerang. (n.d.). 4 innovative volunteer management strategies for food banks. Retrieved from https://bloomerang.co/blog/4-innovative-volunteer-management-strategies-for-food-banks/
[2] Cato Institute. (n.d.). Government cannot solve every societal problem. Retrieved from https://www.cato.org/commentary/government-cannot-solve-every-societal-problem
[3] Change Creator. (n.d.). Top 5 countries that embrace social entrepreneurs (and why you need to know about them). Retrieved from https://changecreator.com/top-5-countries-that-embrace-social-entrepreneurs-and-why-you-need-to-know-about-them/
[4] Mathew, P. M. (2008). Social enterprises in the competitive era. Economic and Political Weekly.
[5] OSEP. (n.d.). เกี่ยวกับเรา. Retrieved from https://www.osep.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B22/
[6] OSEP. (n.d.). ข้อมูลองค์กร. Retrieved from https://data.osep.or.th/org1
[7] Sethailand.org. (n.d.). What is social enterprise (SE)? Retrieved from https://www.sethailand.org/resource/what-is-social-enterprise-se/
[8] SET Social Impact. (n.d.). แบ่งปันให้: Company profile. Retrieved from https://www.setsocialimpact.com/Company/Profile/175
[9] Social Business Model Canvas. (n.d.). Get canvas. Retrieved from https://www.socialbusinessmodelcanvas.com/get-canvas/
[10] School of Changemakers. (n.d.). All blogs. Retrieved from https://www.schoolofchangemakers.com/all-blogs/1
[11] The 101 World. (n.d.). Problems of education budget. Retrieved from https://www.the101.world/problems-of-education-budget/
[12] The Standard. (n.d.). Perspective on the Thai economy in 2024. Retrieved from https://thestandard.co/perspective-on-the-thai-economy-in-2024/
[13] Vieljeux, P. (n.d.). Why NGOs that fail to reinvent themselves are doomed to disappear. Retrieved from https://pvieljeux.medium.com/why-ngos-that-fail-to-reinvent-themselves-are-doomed-to-disappear-10e326268425
Comments