top of page

ความยุ่งเหยิงที่ผูกพันกันของความยากจนกับชนบทและโรงเรียน

rural


หากกล่าวถึงระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบท ภาพจำของใครหลายคนอาจมองว่าเป็นระบบการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติเท่าที่ควร เนื่องด้วยปัญหาความยากจนทางเศรษฐกิจของพลเมืองในพื้นที่ชนบทที่ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนทรัพยากรในการพัฒนาและต่อยอดคุณภาพด้านการศึกษา หล่อหลอมให้เกิดภาพจำเชิงลบเรื่องปัญหาของระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบท

 

สำหรับยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันภายใต้ระบบทุนนิยมอยู่เสมอ ส่งผลให้แม้แต่ระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบทก็ต้องดำเนินไปภายใต้ระบบทุนนิยมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจรัฐ การส่งต่ออุดมการณ์ของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามกลไกของระบบทุนนิยมและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ จนเกิดเป็นการกดขี่พลเมืองในพื้นที่ชนบท ให้อยู่ภายในกรอบและอำนาจนำ จนดูเหมือนไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสู่ความเจริญได้

 

structure

แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานจนดูเหมือนเป็นความปกติทั่วไปของพลเมืองในพื้นที่ชนบท แต่หากได้ศึกษาถึงสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาความยากจนของพลเมืองในพื้นที่ชนบทที่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา โดยมีระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจเพื่อควบคุมโครงสร้างในมิติต่าง ๆ จะพบได้ว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของผู้มีอำนาจที่กำลังกดขี่ต่อพลเมืองในพื้นที่ชนบท อีกทั้งยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ที่หล่อหลอมให้เกิดปัญหาดังกล่าว นำมาสู่กระบวนการผลิตซ้ำของสังคมที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างของระบบทุนนิยมและปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป

 

มาตรฐานการศึกษาของชาติ ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของพลเมืองไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับสร้างพลเมืองไทย 4.0 ที่แม้จะต่างบริบทของสถานศึกษาหรือท้องถิ่นที่ตั้ง แต่ก็ยังมุ่งเน้นสู่จุดหมายร่วมกันคือ “การธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก” อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างกำลังคนสำหรับพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง[1] จากนิยามข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า มาตรฐานของการศึกษาไทยนั้นถูกตีกรอบไว้โดยเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของพลเมืองในสังคมไทย โดยยึดมั่นในกรอบแนวคิดเดียวกัน คือ “การสร้างคนเพื่อพัฒนาชาติให้ไปสู่เวทีโลก”

 

หากมองย้อนไปตามสถานการณ์ความเป็นจริงของบริบทสังคมแต่ละแห่ง กลุ่มพลเมืองในพื้นที่ชนบทถือว่ายังห่างไกลต่อกรอบจำกัดความของมาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดสภาวะความยากจนของพลเมืองส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบท ส่งผลสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่เอื้อต่อการพัฒนาและขาดโอกาสต่อยอดการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ก่อให้เกิดความพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมเทียบเท่ากับพลเมืองทอยู่ในละแวกใจกลางเมือง และเนื่องด้วยความเป็นอยู่ของพลเมืองไทยในสังคมยุคปัจจุบันที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในทุกวงสังคม จึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า กรอบของมาตรฐานการศึกษาของชาติอาจเป็นเพียงสิ่งจอมปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อใช้ครอบงำความคิด กำหนดกฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติของพลเมืองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้เป็นไปตามกลไกของระบบสังคมทุนนิยม

 

donation

ความยากจน (Poverty) เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยทั่วไปแล้ว นิยามของความยากจน หมายถึง ความยากจนทางเศรษฐกิจ พิจารณาจากระดับรายได้ของบุคคลซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพตามมาตรฐานชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับได้ในแต่ละสังคม หากมองย้อนไปถึงสาเหตุของปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบท จะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจในช่วงแรกเป็นเพียงระบบการผลิตแบบยังชีพที่เป็นวิถีเศรษฐกิจหลักซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของพื้นที่ชนบทไทยในยุคสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2398 มีการจัดทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเพื่อสนับสนุนการค้าเสรีระหว่างประเทศและเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในไทย จนกระทั่งปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชนบทได้ถูกผลักดันเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยมมากขึ้น เห็นได้จากการครอบครองปัจจัยการผลิต (ที่ดิน) ของผู้มีอำนาจจำนวนมาก จนกลายเป็นนายทุนเจ้าที่ดิน และจากปริมาณการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว สู่การค้ามากขึ้น


poor houses

ในทางกลับกัน พลเมืองที่ไม่ได้มีทุน (เงิน) มากเพียงพอที่จะสามารถครอบครองที่ดินเป็นของตนเอง ต้องกลายเป็นครัวเรือนไร้ที่ดินทำกิน[2] จากความเป็นมาของระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบการบีบรัดทางโครงสร้างสังคมแบบทุนนิยมไม่เป็นธรรมที่มีการครอบครองกรรมสิทธิ์และปัจจัยการผลิตของผู้มีอำนาจหรือที่เรียกว่า “นายทุน” ส่งผลให้วิถีชีวิตของพลเมืองที่ไร้ซึ่งอำนาจถูกชี้นำไปสู่กระบวนการขายแรงงานตนเองอย่างสมบูรณ์หรือที่เรียกว่าการเข้าสู่ “ชนชั้นแรงงาน” ด้วยการซื้อแรงงานโดยนายทุนที่ให้ผลตอบแทนเรียกว่า “ค่าจ้าง” ส่วนผลประโยชน์ที่นายทุนได้รับจากระบบทุนนิยม คือ มูลค่าส่วนเกิน (Surplus value) เป็นมูลค่าความต่างของสินค้าที่แรงงานผลิตให้นายทุนกับมูลค่าของค่าจ้างที่แรงงานได้รับ[3] มูลค่าส่วนเกินนี้ควรจะเป็นของแรงงานผู้ผลิตแต่กลับกลายเป็นสิ่งที่นายทุนยึดครองไว้เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดแก่ตนเอง ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทจึงเป็นไปในรูปแบบของสังคมทุนนิยมโดยสมบูรณ์ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท แต่ก็ยังเกิดปัญหากดขี่ระหว่างนายทุนและชนชั้นแรงงาน การถูกเอารัดเอาเปรียบในมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจนี้ทำให้กลุ่มพลเมืองในพื้นที่ชนบทกลายเป็นผู้ประสบปัญหาความยากจนโดยปริยาย

 

แม้ว่าในปี พ.ศ.2552 ความยากจนของคนจนในชนบทจะลดลงจากร้อยละ 52.6 เหลือร้อยละ 10.4 แต่เมื่อเทียบกับคนจนในเมืองที่ลดลงจาก 25.3 เหลือเพียงร้อยละ 3.0 ก็ยังถือได้ว่าคนจนในชนบทมีจำนวนมากกว่าคนจนในเมืองสูง[2] นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ หรือการที่รายได้ส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ในประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น[4]

การกระจุกตัวของรายได้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ในมือผู้มีอำนาจที่ได้ครอบครองปัจจัยการผลิตหรือนายทุน ก่อให้เกิดการกดขี่พลเมืองหรือชนชั้นแรงงาน โดยมีเครื่องมือ คือ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Karl Marx ที่กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของทุนทางเศรษฐกิจก็จะได้รับอภิสิทธิ์เสมอ” หมายถึง กลุ่มนายทุนที่มีอำนาจทางการเงินเหนือกว่าจน กลายเป็นผู้มีอำนาจในชนชั้นปกครองมักจะใช้อำนาจในการควบคุมและกำหนดโครงสร้างของพื้นที่ชนบทให้เป็นไปตามความต้องการของตนเพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของตน

 

city

ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบทุนนิยมนี้มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้งด้านผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว Karl Marx จึงคิดวิธีแก้ไขความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมด้วยทฤษฎี Marxism ที่กล่าวว่า “การจัดระเบียบกรรมสิทธิ์ใหม่จะต้องปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงานสู่การสถาปนาสังคมเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์เพื่อความเท่าเทียมกันของทุกชนชั้นทางสังคมมากขึ้น”[5]

 

ระบบคอมมิวนิสต์ คือ ระบบที่สร้างขึ้นมาสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกชนชั้นแรงงาน ดังนั้นสำหรับสภาวะยอมจำนนของพลเมืองในพื้นที่ชนบทต่อการกดขี่จากนายทุนและการบีบรัดทางโครงสร้างของสังคม การที่จะเกิดการปลดแอกวงจรนี้โดยพลเมืองในพื้นที่เพียงเท่านั้นสามารถเป็นไปได้ยาก เพราะพลเมืองที่มีฐานะยากจนหรือกลุ่มชนชั้นแรงงานก็เป็นเพียงผู้ยินยอมขายแรงงานตนเองเพื่อแลกให้ได้มาด้วยเงินเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในยุคสมัยโลกาภิวัตน์นี้มากที่สุด

 

แม้ชนชั้นแรงงานในพื้นที่ชนบทจะสร้างปรากฏการณ์ต่อต้านหรือประท้วงผู้มีอำนาจทั้งนายทุนและภาครัฐ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ม็อบชาวนา พ.ศ.2565 ที่มีการรวมตัวกันในนามเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยโดยชาวนาจาก 36 จังหวัด มาตั้งหลักประท้วงต่อหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ข้อเรียกร้องของชาวนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการผ่อนชำระหนี้ ลดหนี้ ปลดหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลกระทบมาจากปัญหาความยากจนและผลกระทบของเศรษฐกิจ เป็นต้น[6] แต่เหตุการณ์ประท้วงจำพวกนี้ส่วนใหญ่ย่อมไม่เกิดผลด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกตามความต้องการของพลเมืองในชนชั้นแรงงานเรียกร้องเท่าที่ควร เหตุจากนายทุนที่ครอบครองเงินทุนจำนวนมากกว่า ย่อมมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐและคู่ค้าทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเศรษฐกิจ ผลกระทบสำคัญที่ตามมาคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

students

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หมายถึง ความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสและสิทธิในการเข้ารับการศึกษา โดยพิจารณาจากพื้นฐานปัจจัยที่ต่างกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะในด้านความเป็นปัจเจกบุคคลของนักเรียน ปัจจัยด้านครอบครัว ปัจจัยด้านความต่างของสถานศึกษาหรือโรงเรียนในทุกด้าน ปัจจัยด้านงบประมาณและความพร้อมของระบบการศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพของพลเมืองบางกลุ่ม จนก่อให้เกิดปัญหาความแตกต่างด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของแต่ละบุคคล[7]

 

ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคนเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรการเรียนและความเหลื่อมล้ำด้านการบริหารงบประมาณของภาครัฐและกระทรวงศึกษาธิการ[8] ตัวอย่างการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาในช่วงปี พ.ศ.2556 - พ.ศ.2559 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 19 จากงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนงบประมาณที่เยอะที่สุดในทุกหน่วยงานราชการ แต่กลับพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ถูกกระจายไปกระจุกตัวอยู่กับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและโรงเรียนขนาดใหญ่มากกว่าโรงเรียนในพื้นที่ชนบท[8] ปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณนี้ส่งผลต่อระบบการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เป็นรูปแบบการเรียนรู้ทีมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก สภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสาร โดยปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนในยุคนี้คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์สื่อสาร[9] เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรงบประมาณการศึกษา ส่งผลให้โรงเรียนในชนบทบางแห่งไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ดังกล่าวได้ เนื่องด้วยไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสารหรือพัฒนาเทคโนโลยีตามยุคสมัยปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ถือเป็นช่องโหว่ของระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบทที่เกิดการผลิตซ้ำทางสังคมอยู่เรื่อยมา

 

canal

การผลิตซ้ำทางสังคม (Social reproduction) หมายถึง ระบบกลไกที่สร้างหลักประกันให้เกิดการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของโครงสร้างหนึ่งทางสังคมและทำให้เห็นว่าสังคมรูปแบบนี้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากการวิเคราะห์สังคมของ Louis Althusser พบว่าปัญหาสำคัญที่สุดของระบบสังคมทุนนิยมคือการผลิตซ้ำตัวมันเอง เนื่องจากสังคมทุนนิยมมีรูปแบบโครงสร้างที่ค่อนข้างมีความต่อเนื่องมั่นคงจึงยากต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นผลจากความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งปวง พลเมืองจึงถูกกำหนดหน้าที่เฉพาะหรืออาชีพการงานโดยมีศูนย์กลางขึ้นอยู่กับรัฐ ดังนั้น รัฐจึงสามารถควบคุมพลเมืองให้จำนนต่อระบบหรือสถาบันอื่น ๆ ที่มีบทบาทโดยตรงในการเผยแพร่อุดมการณ์ เช่น องค์กรทางศาสนา องค์กรทางการศึกษา[5]

 

จากประเด็นสถานการณ์ดังกล่าว โรงเรียนจึงถือเป็นสถานที่สำหรับส่งต่ออุดมการณ์ของรัฐที่สำคัญที่สุด เนื่องด้วยโรงเรียนคือสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งต่อการศึกษาแก่ทุกชนชั้นในสังคมซึ่งแฝงไว้ด้วยความไม่ปกติที่ถูกปิดบังไว้อย่างแนบเนียนด้วยอุดมการณ์การปกครองของโรงเรียนที่ยึดมั่นว่า ต้องปราศจากการควบคุมโดยอุดมการณ์ใด ๆ การถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐจึงเป็นความปกติที่ไม่ปกติแต่ยังคงแทรกซึมอยู่ได้ในกระบวนการศึกษาเรื่อยมา โดยรูปแบบการส่งต่ออุดมการณ์ของรัฐผ่านกลไกการส่งต่อของโรงเรียน เกิดขึ้นโดยการจัดสร้างอุดมการณ์ที่เหมาะสมกับบทบาทของพลเมืองแต่ละสังคม การวางตำแหน่งหน้าที่การงานไว้ตามความเฉพาะของปัจเจก ครอบคลุมผ่านเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ การเคารพกฎระเบียบ สังคม ความประพฤติและทัศนคติที่ดี เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองดำเนินอยู่ภายใต้กฎการแบ่งงานกันทำ

 

classroom

โรงเรียนคือแหล่งก่อสร้างการผลิตซ้ำของการยอมจำนนต่อกฎระเบียบที่ถูกสร้างให้ขึ้นตรงต่ออุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง[10] เนื่องจากการให้ความหมายของอุดมการณ์ว่าเป็นแนวทาง ความคิดในการกำหนดเป้าหมายที่มีความเป็นเลิศ สามารถปฏิบัติเพื่อให้บรรลุและเกิดขึ้นจริงได้ ส่งผลให้การเรียนรู้ที่ถูกถ่ายทอดภายในโรงเรียนกลายเป็นความผิดปกติที่หล่อหลอมให้นักเรียนคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือความปกติที่พึงปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น โรงเรียนยังคงใช้เกณฑ์การประเมินผลคะแนนการสอบผลเฉลี่ยทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อจัดลำดับนักเรียนและอ้างว่าเป็นกระบวนการผลักดันให้นักเรียนดำเนินไปสู่การประกอบอาชีพที่ดีภายในอนาคต แต่ความเป็นจริงคือการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าสู่กลไกลการคัดเลือกของระบบทุนนิยมในรูปแบบของระดับการศึกษาที่สูงขึ้นหรือหน้าที่การงานที่มั่นคง เป็นรูปแบบการวิ่งล่าระบบทุนนิยมที่ปลูกฝังผ่านการครอบงำของรัฐที่อ้างว่าทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนหรือพลเมือง ซึ่งทุกคนต่างรู้กันดีว่าปลายทางสุดท้ายของกระบวนการนี้ คือการเข้าวิ่งสู่วงโคจรการรับใช้ระบบทุนนิยมภายใต้การควบคุมของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจนำหรือนายทุน ซึ่งผลที่ตามมาคือนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนคิดว่าการใฝ่หาการศึกษาที่ดีเพื่อให้มีหน้าที่การงานที่ดี มีหน้ามีตาในสังคม เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิต แม้จะต้องแลกมาด้วยการแข่งขันที่หนักหน่วง ตัวอย่างเช่น การแข่งขันเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นต้น

 

แน่นอนว่าจากสถานการณ์ความเป็นจริงของยุคปัจจุบัน พลเมืองหรือนักเรียนในพื้นที่ชนบทย่อมมีความเสียเปรียบในการแข่งขันครั้งนี้เนื่องด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความด้อยโอกาสและความไม่พร้อมในปัจจัยต่าง ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหากระบบการศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐานและประสิทธิภาพเดียวกัน ปรากฏการณ์การสอบแข่งขันเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย อีกทั้งยังส่งผลให้นักเรียนหรือพลเมืองทุกพื้นที่สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพเทียบเท่ากันได้ ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาถึงอุดมการณ์ที่โรงเรียนพยายามปลูกฝังแก่นักเรียนเชื่อมโยงกับเรื่องอำนาจรัฐ จะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วผลผลิตทางการศึกษาหรือพลเมืองก็ต่างต้องดำเนินชีวิตของตนไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภายใต้อำนาจรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จนเกิดเป็นการผลิตซ้ำทางสังคมที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ปัญหาด้านการศึกษาจากผลกระทบเรื่องความยากจนของพลเมืองในพื้นที่ชนบทจึงเป็นความผิดปกติที่ถูกกลืนให้กลายเป็นความปกติ ผ่านการบีบรัดโดยโครงสร้างของสังคมและการกดขี่พลเมืองในพื้นที่ชนบทด้วยอำนาจรัฐเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบทุนนิยม การส่งต่ออุดมการณ์ของรัฐผ่านระบบการศึกษา คือจุดเริ่มต้นในการชักจูงพลเมืองให้เข้าสู่สังคมทุนนิยมและเป็นจุดเริ่มต้นของการกดขี่พลเมืองไว้โดยการให้คุณค่าความสำคัญตามปัจเจกบุคคลด้วยการคัดกรองผ่านความไม่เท่าเทียมกันของระบบการศึกษา การกระจายอำนาจทางการศึกษา รวมถึงความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ นำมาสู่การกดทับพลเมืองในพื้นที่ชนบทให้กลายเป็นเพียงชนชั้นแรงงานในระบบสังคมทุนนิยมซึ่งเป็นวงโคจรนำกลับมาสู่ปัญหาความยากจน และส่งผลไปสู่การขาดแคลนทรัพยากร โอกาส และอำนาจต่อรองของพลเมืองในพื้นที่ชนบท พลเมืองกลับกลายเป็นเพียงเบี้ยชั้นล่าง หมากแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปตามกระบวนการผลิตซ้ำทางสังคม

 

#วันวิสา

 

เอกสารอ้างอิง

[1] ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์. (2561). มาตรฐานการศึกของชาติ พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.

[2] ชาย โพธิสิตา. (2555, ตุลาคม-ธันวาคม). ชนบทไทยในวิถีทุนนิยม. วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 37(4). 167-181. [3] พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ และ วีรชาติ นิ่มอนงค์. (ม.ป.ป.). สันติภาพบนพื้นฐานความยุติธรรม : วิเคราะห์แนวคิด ปรัชญาการเมืองของคาร์ล มาร์กซ์. วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์, 37(1), 37.

[4] ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น. (2552). ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทย. วารสาร ประชากรศาสตร์, 25(2). 72.

[5] เชษฐา พวงหัตถ์. (2549, มกราคม-ธันวาคม). วิวาทะ Structure-Agency และการหาทางออกให้กับปัญหาทวิ

ลักษณ์นิยม: Marxism versus Foucault. วารสารสังคมศาสตร์, 37(1-2), 141-147.

[6] จิรัชญา ชัยชุมคุณ. (15 มีนาคม 2565). สรุป #ม็อบชาวนา เกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ชาวนาเรียกร้องอะไร แล้ว ภาครัฐมีท่าทียังไงบ้าง?. The MATTER. สืบค้นจาก https://thematter.co/quick-bite/farmer-labor-mob/170058

[7] ธีรภัทร์ ถิ่นแสนดี และ ภิญญา อนุพันธ์. (2564, มิถุนยา-สิงหาคม). ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. วารสารวิชาการรัตนบุศย์, 3(2), 65.

[8] รัชวดี แสงมหะหมัด. (2560, มกราคม-มิถุนายน). ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: คุณภาพสังคมที่คนไทยมองไม่ เห็น. วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์, 8(1), 41.

[9] กัญภร เอี่ยมพญา, นิวัตต์ น้อยมณี, อภิชาต อนุกูลเวช, และ ดาวประกาย ระโส. (2564, มกราคม-เมษายน). การ จัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์. วารสารครุศาสตร์ปริทรรศน์ฯ, 8(1), 357.

[10] เจษฎาพัญ ทองศรีนุช. (2560). มาร์กซิสม์และทฤษฎีวิพากษ์: การครอบงำ การผลิตซ้ำ และการปลุกจิตสำนึกทาง

ชนชั้นในมิติทางอำนาจนำ. วารสารด้านการบริหารรัฐกิจและการเมือง, 6(2), 43-45.


 

bottom of page