การแสดงออกซึ่งความหลากหลายในอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identities) คือสำนึกในตัวตนและการแสดงออกทางเพศที่อาจนอกเหนือจากเพศชายและเพศหญิงในกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้ในสถานศึกษามักถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกและถูกทำให้เป็น ‘สิ่งพิเศษ’ ในสังคมไทย การจัดกลุ่มให้บุคคลที่ไม่ใช่เพศกระแสหลักถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงถูกตัดสินและถูกมองว่ามีความเบี่ยงเบนออกไปจากบรรทัดฐานของสังคม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในรูปแบบที่เจาะจงกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในพื้นที่สถานศึกษา
การที่กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาสามารถส่งผลกระทบในระดับบุคคลทั้งในเชิงบวก เช่น การได้รับความสนใจในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเป็นพิเศษ การได้รับอภิสิทธิ์ลดจำนวนครั้งในการสอบปฏิบัติของวิชาพละศึกษาหรือการลดจำนวนรอบการทดสอบสมรรถนะทางร่างกายของผู้เรียน ผลกระทบระดับบุคคลในเชิงลบ เช่น การถูกกลั่นแกล้ง รังแก ล้อเลียนหรือถูกจับตามองพฤติกรรมที่ส่อแววไปในทางการกระทำความผิดต่อกฎระเบียบของโรงเรียนเป็นพิเศษมากกว่าเพศชายและเพศหญิง สิ่งเหล่านี้กลับถูกให้ค่าราวกับเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย แต่ในมิติของการได้รับการเลือกปฏิบัตินั้นมีความซับซ้อนของชุดความคิด ความเชื่อ เจตคติ ค่านิยม ตลอดจนมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังกดทับและด้อยค่ากลุ่มคนเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการบีบคั้นพฤติกรรมการแสดงออก เพื่อที่จะจัดระเบียบให้คนเหล่านี้เข้ากันได้กับบรรทัดฐานของสังคมอยู่ตลอดเวลาและในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจถูกกีดกันหรือแบ่งแยกออกไปจากสังคมในสถานศึกษาได้
การเผชิญหน้ากับการถูกเลือกปฏิบัติ (discrimination) ของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายในสถานศึกษาทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าตนเองแตกต่างและพิเศษออกไปจากคนอื่น ๆ ในสังคม นำไปสู่การแบ่งแยกสถานะและชนชั้นทางสังคมในเรื่องเพศอย่างชัดเจน การกีดกันให้ออกไปอยู่ชายขอบในมุมมองทางเพศส่งผลให้เกิดการไม่ได้รับโอกาสด้านสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง[1] และหลายครั้งการถูกเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดปัญหาในสถานศึกษามากมาย
หนึ่งในปัญหาที่พบมากในสังคมไทยคือปัญหาการใช้ความรุนแรง จากงานวิจัยโดยโครงการ Trevor องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศระบุว่าในปี พ.ศ.2565 กลุ่มนักเรียนที่เป็น LGBTQ+ มีความเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งมากถึง 34% หรือสามารถประมาณค่าได้ว่านักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ 1 ใน 3 คนถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษา การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางคำพูด เช่น การล้อเลียน การใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามหรือการใช้คำพูดเพื่อสื่อไปในทางการสร้างความขำขันในเรื่องเพศเป็นการไม่ให้เกียรติและผลิตซ้ำภาพจำทางเพศในด้านลบ ความรุนแรงทางการกระทำ เช่น การกล้อนผม การทำร้ายร่างกายหรือการคุกคามทางเพศ เป็นการทำให้เหยื่อเหล่านี้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศ ความรุนแรงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต จากการสำรวจของโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในปี 2561 พบว่าร้อยละ 50.7 ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยมีความคิดว่าอยากฆ่าตัวตายและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขอยกตัวอย่างข่าวจากกรณีน้องกาฟิว นักเรียน LGBTQ+ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงหลังถูกตัดผมโดยครูในโรงเรียน ถึงแม้จะไม่สามารถบอกสาเหตุการตัดสินใจจบชีวิตที่แน่ชัดของน้อง แต่จากข่าวนี้ทำให้สังคมเกิดแรงกระเพรื่อมลูกใหญ่กับการตั้งคำถามไปถึงการมีอยู่ของการถูกเลือกปฏิบัติในกลุ่มนักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
การกำหนดคุณค่าทางเพศว่าเพศใดควรแสดงออกแบบใดถูกสร้างขึ้นจากความคาดหวังของคนในสังคม สิ่งนี้เรียกว่าเพศภาวะ (gender) คือเพศที่สังคมกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เมื่อเกิดมามีร่างกายเป็นชายหรือหญิง โดยสังคมและวัฒนธรรมไทยได้หล่อหลอมบทบาทหน้าที่รวมถึงพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของความเป็นชายและความเป็นหญิง การประกอบสร้างทางสังคม (Social construction) ส่งอิทธิพลไปยังสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน หล่อหลอมให้เกิดการจำกัดกรอบทางความคิดและการกระทำของสมาชิกในสังคม[2] ผ่านการสร้างวาทกรรมทางเพศ เช่น ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า มีความเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าครอบครัวและห้ามร้องไห้หรือแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง ต้องรักนวลสงวนตัว มีความอ่อนโยนและต้องเรียบร้อยดั่งผ้าที่พับไว้
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาพจำและการแปะป้ายคุณสมบัติที่เหมาะสมของความเป็นเพศชายเพศหญิงไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้การนิยามความหมายของเพศถูกเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กับบทบาทหน้าที่ที่สังคมมองว่าสิ่งใดควรกระทำและสิ่งใดไม่ควรกระทำ ภาพจำและคุณสมบัติของกลุ่มนักเรียนผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายในสังคมไทยขณะนี้คงหนีไม่พ้นสาว ตุ้งติ้ง (ในกรณีตุ๊ด กะเทยหรือเกย์) ตลก เรียนเก่ง กิจกรรมเด่น กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์และอื่น ๆ อีกมากมาย
หากมองในมิติที่ว่าเพราะเหตุใดมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีบทบาทหน้าที่และต้องพยายามทำตัวให้อยู่ในบรรทัดฐานของสังคมอยู่ตลอดเวลา อาจตอบได้ว่ามนุษย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (social needs) จากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of needs) กล่าวว่าเนื่องจากมนุษย์กลัวความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว มนุษย์จึงสร้างสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่นำไปสู่ความรู้สึกต้องการความปลอดภัยและความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมของตน ดังนั้นเมื่อกลุ่มนักเรียน นักศึกษาผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายประพฤติปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานสังคมที่ตัวเองอยู่ สังคมก็จะมอบสิทธานุมัติ (sanction) หรือการตอบแทนทางสังคมจากผลของการกระทำ แบ่งออกเป็นการให้รางวัลทางสังคม (rewards) เช่น การได้รับคำชมเชย การได้รับการยอมรับหรือการได้รับการสนับสนุน การลงโทษทางสังคม (punishments) เช่น การถูกตราหน้าในแง่ลบ การถูกติเตียนหรือการไม่มีคนคบหาสมาคมด้วย การให้รางวัลและการลงโทษเหล่านี้เป็นสิทธานุมัติอย่างไม่เป็นทางการหรือก็คือการปล่อยให้สมาชิกในสังคมตัดสินและมอบสิทธานุมัติกันเองตามแต่จารีต วิถีประชาและวัฒนธรรมในสังคมนั้น[3] ดังนั้นกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายจึงจำเป็นต้องพยายามประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในมาตรฐานสังคมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานความงามหรือมาตรฐานความสำเร็จ จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการเป็นเหยื่อของการจัดระเบียบทางสังคม เหยื่อเหล่านี้จะมีความรู้สึกสำนึกผิดในตนหรือการโทษตัวเองว่าเป็นตัวประหลาดเพียงเพราะตัวเองมีการแสดงออกในอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงตามความคาดหวังของสังคม การถูกจำกัดพฤติกรรมการแสดงออกในอัตลักษณ์ทางเพศนำไปสู่ปัญหาการด้อยค่าตัวเองจากความรู้สึกแตกต่างที่ได้รับ ส่งผลไปสู่ปัญหาการสร้างการรับรู้ในตัวตน (self-perception) ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการลดทอนคุณค่าจากมุมมองที่มีต่อตนเอง (self-esteem)
นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศมักถูกกดดันและถูกควบคุมให้แสดงออกพฤติกรรมทางเพศให้ตรงตามเพศสรีระ (physical sex) หรือลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และเพศภาวะ (gender) ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสังคม ยกตัวอย่างเช่น เครื่องแบบนักเรียน การมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียนเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการควบคุมความคิดและการจัดระเบียบสังคมของรัฐ เนื่องจากเครื่องแบบนักเรียนได้ทำงานกับความคิดและได้สร้างเจตคติร่วมให้กับสมาชิกในสังคม ทำให้ผู้สวมใส่เกิดความสำนึกรู้ภายในและเชื่อมโยงเครื่องแต่งกายกับเพศตั้งแต่วัยเด็กหรือเรียกว่าเป็นการจัดระเบียบสังคมระดับบุคคล โดยการปลูกฝังให้เชื่อมโยงความหมายกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ การปลูกฝังว่าเพศไหนควรแต่งกายแบบไหนและไม่ควรแต่งกายแบบไหนเป็นการแบ่งแยกความตระหนักรู้ในเรื่องการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน ทำให้อัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพศชายและเพศหญิงถูกลบล้างหรือลดทอนคุณค่า โดยการควบคุมที่ว่านี้ทำงานโดยการปล่อยให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้กำหนดลำดับชั้นของคุณค่าทางเพศในสังคมเอง ส่งผลให้สังคมมอบคุณค่าและความชอบธรรมให้เพศต่าง ๆ ไม่เท่ากัน[4] นำไปสู่ข้อจำกัดและการปิดกั้นโอกาสในการแสดงออกของกลุ่มนักเรียนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงตามเพศสรีระในสถานศึกษาเพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีแม้แต่ทางเลือกในแต่งกายหรือการใช้สิทธิในร่างกายของตนได้ตามอัตลักษณ์ของตนเองเนื่องจากมีอำนาจจากกฎระเบียบของโรงเรียนมากดทับการแสดงออกทางพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้ต้องมีการขออนุญาตให้ได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
สาเหตุที่ปัญหาเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่ในสังคมไทยโดยเฉพาะในสถานศึกษาเป็นผลมาจากความเพิกเฉย (ignorance) ของคนในสังคมต่อการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงการผลิตซ้ำความเพิกเฉยต่อไป การถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติมักมีรากเง่าของปัญหาอยู่ที่ความไม่รู้และการขาดความคุ้นเคยกับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ[5]
ดังที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้า การจะได้รับมาซึ่งความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทำให้กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมตั้งไว้ ที่เห็นได้ชัดคือมาตรฐานความสำเร็จ การสร้างความโดดเด่นและความพิเศษออกมาให้มีความสำคัญเท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิงปกติเพื่อมาทดแทนภาพจำและการถูกตีตราด้านลบต้องอาศัยความพยายามมากกว่าเพศกระแสหลัก เงื่อนไขทางเพศกำหนดกรอบของเพศภาวะ (gender) ที่คาดหวังให้กลุ่มคนเหล่านี้เรียนเก่งหรือประสบความสำเร็จทางการศึกษาในขั้นที่สูง ถ้าไม่เรียนเก่งก็ต้องกิจกรรมเด่นมีความกล้าแสดงออกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่เมื่อมองไปในมิติการผลิตซ้ำของการกำหนดคุณค่าทางเพศจะเห็นได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุในการผลิตซ้ำคุณค่าทางเพศเหล่านั้น เช่น การเสนอตัวเดินแบบในงานกิจกรรมชุดรีไซเคิล งานวันคริสมาสต์หรือการเป็นผู้นำเชียร์ (ถึงแม้จะมีเพศชายและเพศหญิงเข้าร่วมด้วยแต่กิจกรรมเหล่านี้มักได้รับความสนใจมากกว่าในหมู่เพศทางเลือก) กล่าวในอีกนัยหนึ่งคือกลุ่มนักเรียนเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามกรอบสังคมเช่นกันหรือสามารถกล่าวได้ว่ากลุ่มนักเรียนเหล่านี้เองก็กำลังผลิตซ้ำภาพจำและคุณสมบัติของอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายอยู่เช่นกัน ตามความหมายของ Judith Butler สิ่งนี้เรียกว่า Gender Performative เป็นการแสดงออกซ้ำ ๆ ตามความคาดหวังหรือนิยามของสังคมเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่มีตัวตนในสังคมจึงต้องแสดงออกในสิ่งที่สังคมต้องการ
หากตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจใดที่กำลังทำงานอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้บ้างโดยปราศจากการวิพากษ์ ‘ความจริงแท้ (essentialism)’ คงไม่สามารถอธิบายได้ถึงแก่นของปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้ทฤษฎีเควียร์ (Queer Theory) ในการรื้อถอนโครงสร้างปรากฏการณ์การถูกเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายจะเห็นได้ว่าการสร้างความจริงเชิงประจักษ์ (empiricism) ส่งผลต่อกระบวนการคิดและความเข้าใจในเรื่องเพศของสมาชิกในสังคม การได้รับอิทธิพลจากหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ทำให้เกิดการนิยามหรือบัญญัติคำจำกัดความทางเพศให้แก่สังคม แต่การวิพากษ์เรื่องเพศในมุมมองของทฤษฎีเควียร์เชื่อว่าคำว่าเพศมีความซับซ้อนกว่านั้นและไม่เชื่อว่าการแบ่งแยกทางเพศมีอยู่จริง การท้าทายอำนาจทางความรู้ในสังคมเป็นสิ่งที่เควียร์พยายามตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นและถ้าไม่เป็นเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร ความรู้ของ เพศศาสตร์ (sexology) ที่อธิบายเรื่องเพศไว้มีวิธีคิดมาจากชีววิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในหลักคิดวิทยาศาสตร์ส่งผลให้เกิดการชี้นำและการครอบงำชุดความคิด ความเชื่อและเจตคติร่วมของคนในสังคมมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์[6] ดังนั้นเป้าหมายของเควียร์คือการรื้อถอนโครงสร้างบรรทัดฐานสังคมว่าความจริงที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากใคร ผลประโยชน์ตกไปอยู่กับสิ่งไหน อำนาจใดกระทำกับความจริงเหล่านี้อยู่บ้างหรือแม้แต่ความปกติที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นมีจุดประสงค์ในการควบคุมประชากรให้เป็นไปตามทางเดินเส้นทางใด
หลายครั้งความปกติของการได้รับการเลือกปฏิบัติของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษาก็มีสาเหตุมาจากการนิยามคำศัพท์เกี่ยวกับเพศ การแบ่งแยกคำจำกัดความอย่างชัดเจนทั้งชายหญิง (S) เลสเบี้ยน (L) เกย์ กะเทย (G) ไบ (B) ทรานส์ (T) ว่าต้องเป็นหรือต้องมีลักษณะแบบใด ส่งผลไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติ ในมุมมองของทฤษฎีเควียร์ถือเป็นการแบ่งแยกชนชั้นและสถานะทางเพศอย่างชัดเจน เควียร์จึงไม่เห็นเห็นด้วยกับการนิยามคำจำกัดความทางเพศเพราะเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องไม่ปกติที่ถูกทำให้เป็นปกติในสังคม (normalization) ยกตัวอย่างเช่นการที่สังคมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุดมการณ์เรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมและความเสมอภาคทำให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์สร้างห้องน้ำที่มีชื่อว่า ‘ห้องน้ำเสมอภาค (All Genders)’ ผู้เขียนมองว่าการพยายามจะสร้างความเสมอภาคในบางครั้งก็เปรียบเสมือนการทำให้กลุ่มเพศหลากหลายมีความรู้สึกพิเศษหรือรู้สึกแปลกแยกขึ้นมาได้ทั้งสองแง่มุม แน่นอนว่าทฤษฎีเควียร์จะมองเรื่องการสร้างห้องน้ำเสมอภาคเป็นการแบ่งแยกสถานะทางเพศและเป็นการยอมรับว่าเพศหลากหลายคือความพิเศษ ฉะนั้นการสร้างห้องเสมอภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการได้รับการเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาเช่นเดียวกัน
การถูกส่งต่อและผลิตซ้ำความจริงเรื่องเพศรวมถึงนิยามศัพท์ทางเพศต่าง ๆ ถูกขัดเกลาและควบคุมผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆ เช่น สถานบันศาสนาขัดเกลาผ่านคำสอนและหลักปฏิบัติว่าเพศใดควรกระทำและไม่ควรกระสิ่งใด สถานบันการเมืองการปกครองควบคุมผ่านการออกนโยบายหรือกฎหมาย อาทิ การใช้คำนำหน้าชื่อ กฎหมายสมรส แม้แต่สถานบันการศึกษาเองที่ขัดเกลาและควบคุมนักเรียน นักศึกษาผ่านการออกแบบหลักสูตรหรือกฎระเบียบ สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไปโดยการปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้อนุรักษ์และส่งต่อชุดความคิด ความเชื่อ ความจริงเหล่านั้นต่อกันไปเองเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานของอำนาจมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนกับมิติของโครงสร้างทางสังคมและการทำงานของสถานบันทางสังคม
การถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มนักเรียนผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายจะยังคงถูกอนุรักษ์ต่อไปในสังคมไทยหากไม่มีการสร้างความตระรู้ทางเพศและการตั้งคำถามถึงความจริงแท้ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ความพิเศษที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติกำลังกีดกันการมีอยู่ของเพศอื่นและกำลังสร้างเส้นแบ่งแยกสถานะและชนชั้นทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งจะถูกผลิตซ้ำผ่านการสร้างวาทกรรมทางเพศที่คอยหล่อหลอมให้คนในสังคมยังยึดติดอยู่กับชุดความคิด ความเชื่อและเจตคติร่วมทางเพศแบบเดิม ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและการเกิดอคติทางเพศ แน่นอนว่าการเพิกเฉยต่อการถูกเลือกปฏิบัติจึงไม่ต่างอะไรกับการดำรงไว้ซึ่งอำนาจเชิงโครงสร้างและการเห็นด้วยกับความจริงที่ถูกสร้างขึ้นว่าเพศบนโลกแบ่งได้เพียงเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังกดทับและด้อยค่ากลุ่มคนเหล่านี้นำไปสู่การบีบคั้นพฤติกรรมการแสดงออกเพื่อที่จะจัดระเบียบให้คนเหล่านี้เข้ากับบรรทัดฐานของสังคมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าการใช้ทฤษฎีเควียร์จะมีข้อจำกัดในการท้าทายอำนาจความรู้ของคนในสังคมแต่การวิพากษ์ถึงบรรทัดฐานและการทำงานของอำนาจในสังคมที่มอบความคาดหวัง บทบาทและหน้าที่ให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อและทัศนคติของสมาชิกในสังคมได้เป็นอย่างดี
#วุฒิพร
เอกสารอ้างอิง
[1] บุษกร สุริยสาร. (2557). อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำ ประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว; โครงการส่งเสริมสิทธิ ความ หลากหลายและความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE). กรุงเทพ:องค์การแรงงานระหว่าง ประเทศ.
[2] ธนัย เจริญกุล. (2022). “ความแตกต่างระหว่างเพศ” แนวคิดข้ามพ้นการแบ่งแยกเพศสรีระ/เพศสถานะ. วิทยาลัยสหวิยาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นจาก https://so05.tci- thaijo.org/index.php/sjss/article/view/246018/173312
[3] งามพิศ สัตย์สงวน. (2528). การจัดระเบียบทางสังคม. วารสารพัฒนบริหารศาสตร์. สืบค้นจาก http://library1.nida.ac.th/nida_jour0/NJv25n3_04.pdf
[4] Rubin, Gayle. (1999). “Thinking Sex: Notes for a Radical Theory for the Politics of Sexuality”. In Culture, Society and Sexuality. New York. Routledge.
[5] สกล โสภิตอาชาศักดิ์, รณภูมิ สามัคคีคารมย์. (2018). แนวทางต้นแบบการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมแก่บุคคล ข้ามเพศและชุมชนบุคคลข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก. สืบค้นจาก https://weareaptn.org/wp- content/uploads/2018/11/rbap-hhd-2018-trans-health-blueprint-thai.pdf
[6] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2015). ทบทวนวิธีการสร้างความรู้ / ความจริงเรื่องเพศ. คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา. สืบค้น จาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/2
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2015). การทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่อง Queer Theory [เพศวิภาษ]. คำศัพท์ทาง มานุษยวิทยา. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/5
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2015). เควียร์กับการวิพากษ์มานุษยวิทยากระแสหลัก. คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/1