top of page

5 นาทีทุกเช้ากับการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด : 21 วัน พารุ้งมาพบใจ

เมื่อช่วงปลายปีก่อนชีวิตฉันเหมือนตกอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าสับสนทางจิตวิญญาณถึงขีดสุด มีเรื่องหลายอย่างเข้ามาในชีวิตที่เป็นเหมือน wake up call ให้ฉันได้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองเป็น และสิ่งที่ตัวเองติดหล่มมาตลอดชีวิต



ในช่วงเวลาที่ต้องประสบกับอันตรายมนุษย์เรามักจะมีสัญชาตญาณในการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยวิธีการนานา ในยามที่จิตวิญญาณเข้าสู่ภาวะอันตรายฉันเชื่อว่าสัญชาตญาณการเอาตัวรอดทางจิตวิญญาณก็สามารถถูกปลุกขึ้นเช่นกัน


การเอาตัวรอดทางจิตวิญญาณของแต่ละคนคงมีวิธีแตกต่างกันตาม wake up call ที่แต่ละคนได้รับ

สำหรับฉันแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่ฉันรู้สึกว่าควรจะทำงานด้วยในขณะนั้นเห็นจะไม่มีอะไรที่สำคัญมากไปกว่าเรื่องของการเชื่อมโยงกับตัวเองให้ได้มากที่สุด ฉันคงไม่อธิบายเหตุผลในที่นี้ว่าทำไมจึงต้องกลับมาเชื่อมโยงกับตนเอง แต่อยากจะเล่าว่าช่วงเวลานั้นเป็นโมเม้นต์สำคัญที่ฉันได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างในชีวิตพอสมควรซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมกิจกรรม 21 วัน พารุ้งมาพบใจ ที่จัดขึ้นโดยชุมชนกรุณาขะใจ๋ ซึ่งฉันอยากแชร์ให้ฟังในบทความนี้


กิจกรรม 21 วัน พารุ้งมาพบใจเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ชวนให้ใช้เวลาสั้น ๆ ตอนตื่นนอนนั่งนิ่ง ๆ แล้วเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับคำสั้น ๆ ที่ถูกเรียกว่าคำสร้างสรรค์ เช่น คำว่า “ศิลปะ” “ธรรมชาติ” “ศรัทธา” จากนั้นจึงถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองที่มีความเชื่อมโยงกับคำแต่ละคำออกมาเป็นข้อความสั้น ๆ ภาพ หรืออะไรก็ได้ กิจกรรม 21 วัน พารุ้งมาพบใจเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ใช้เวลาไม่นานนักในการเริ่มกิจกรรมแต่ละวัน กระบวนการนั้นเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเลยแต่ทว่าทำงานต่อเนื่องยาวนานกับตัวผู้เข้าร่วมทุกคนไปตลอดทั้งวัน และตลอดทั้ง 21 วัน (หรืออาจจะยาวนานกว่านั้นในบางคน)


ฉันไม่อยากจะสปอยรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่าง 21 วัน ที่เข้าร่วมกิจกรรมมากนัก แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแจ่มชัดคือสิ่งที่ฉันอยากเรียกว่า การรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะวิธีการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแทบไม่มีข้อกำหนดในการทำกิจกรรม ไม่มีข้อบังคับว่าต้องส่งการบ้านทุกวัน วันที่ไม่พร้อมหรือยังนึกไม่ออกอาจจะไม่ส่งการบ้าน หรือส่งการบ้านช้าก็ไม่มีใครว่า ไม่มีกรอบเรื่องวิธีการบอกเล่าสิ่งที่คิด ดังนั้น การถ่ายทอดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนจึงหลากหลาย เป็นไปอย่างอิสระ และสามารถหยุดเข้าร่วมการเรียนรู้ได้เสมอตามอัธยาศัย มีเพียงผู้เดียวที่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดนั่นคือตัวผู้เข้าร่วมกระบวนการเองซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยหากลองตั้งใจสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างจริงจัง


 

การรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองที่ฉันได้รู้จักจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดที่บางคนเรียกว่าการเรียนรู้แบบการพึ่งพาตนเอง (Autonomous Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีฐานคิดมาจากการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้แทบจะทุกขั้นตอนด้วยตัวของผู้เรียนเอง ตั้งแต่วิธีการได้มาซึ่งองค์ความรู้ การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ การใช้เวลาในการเรียนรู้ ไปจนถึงการประเมินการเรียนรู้ของตนเอง โดยที่ตัวครูหรือผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายการเรียนรู้ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และอาจจะตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายที่ไกลมากยิ่งขึ้นผ่านการพูดคุยหรือการตอบโต้บทสนทนาด้วยงานเขียน



นอกจากนั้นหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ในการเรียนรู้แบบนี้คือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองให้เพื่อน ๆ ที่ร่วมอยู่ในเส้นทางเรียนรู้เดียวกันได้รับฟัง และอาจให้คำแนะนำหรือแสดงความเห็นกันได้ด้วยในบางเรื่องราว มนุษย์เราเรียนรู้จากการรับฟังเรื่องราวของผู้อื่นได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นแม้เพียงได้รับฟังก็อาจกลายเป็นการเรียนรู้ที่เงียบเชียบแต่ทว่ามีผลกระทบยิ่งใหญ่ก็เป็นได้


 

จากที่เล่ามาทั้งหมดอาจดูคล้ายกับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเองนี้อาจจะดูห่างไกลกว่าการเรียนรู้ที่ผู้สอนเข้ามาดูแลผู้เรียนทุกขั้นตอน แต่เมื่อมองลงไปให้ลึกในฐานะผู้เรียน ฉันกลับรู้สึกว่าการเรียนในลักษณะนี้ทำให้เราใกล้ชิดกับผู้สอนมากกว่าการเรียนรู้แบบใด ๆ เพราะในเส้นทางการเรียนรู้ที่เราเลือกเองแบบนี้ครูจะทำหน้าที่เป็นคนคอยดูอยู่ห่าง ๆ แต่คอยสังเกตการเรียนรู้ของเราอยู่เสมอจากการคอยตอบคำถาม สนทนา หรือกดหัวใจดวงเล็ก ๆ ให้กับคำตอบของเรา การมีพื้นที่แบบนี้จึงทำให้เรารับรู้ได้เสมอว่ามีคนคนหนึ่งที่อยู่กับเรา พร้อมจะรับฟังในยามที่เราเจอปัญหาบางอย่างในระหว่างเรียนรู้ ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้จึงเหมือนกับคนที่มาไม่บ่อย แต่มาได้ถูกเวลาซึ่งฉันมองว่าการมาถูกเวลานั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าการอยู่เคียงข้างเลย


แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดที่การเรียนรู้ในรูปแบบนี้มีให้มากกว่าการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ฉันว่า มันคือ “ความไว้วางใจ” การให้ไว้วางใจปล่อยให้ผู้เรียนได้มีอิสระในออกแบบวิธีการเรียนรู้ของตนเอง ให้อิสระกับวิธีการประเมิน หรือแม้แต่ให้อิสระในการให้ผู้เรียนได้ให้คะแนนตัวเองเองด้วยซ้ำไปมันสื่อสารอย่างชัดเจนว่า ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เชื่อมั่นในศักยภาพ และเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนรู้ว่าสามารถดูแลตัวเองได้ ฉันเชื่อว่ามุนษย์ทุกคนต่างก็ต้องการการยอมรับ และอยากจะมีศักยภาพในการดูแลตัวเองอย่างอิสระทั้งนั้น เมื่อได้รับความไว้วางใจจึงย่อมรักษาสิ่งที่ได้รับมานั้นด้วยความพยายามทั้งหมดที่ตนเองมี ความไว้วางใจจึงนับเป็นคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่ง และอาจเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนที่สุดแล้วว่า เรากำลังให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน


ป.ล. สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 21 วัน พารุ้งมาพบใจ สามารถติดตามตารางกิจกรรมที่จัดอยู่เรื่อย ๆ ได้ทางเพจ ชุมชนกรุณา ส่วนผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ การเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเอง แนะนำ หนังสือ “ห้องเรียนเปลี่ยนโลก” นะคะ


#คุณครูไดโนเสาร์

bottom of page