top of page

ปล่อยให้ได้เล่นบ้าง

ฉันมีนิสัยอย่างนึงที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กจนโตนั่นคือการพกหนังสืออย่างน้อย 1 เล่ม ติดตัวไว้เสมอ ไม่ว่าจะได้อ่านหรือไม่ได้อ่านก็ต้องขอพกติดตัวไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นชีวิตเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป



แม้แต่ตอนนี้ที่สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเป็นสิ่งของที่ถูกหยิบบ่อยกว่าหนังสืออย่างเทียบไม่ติด แต่นิสัยพกหนังสือของฉันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลือนหายไปแต่อย่างใด ขอให้ได้หยิบขึ้นมาอ่านบ้าง หรือรู้ว่ามีหนังสือติดตัวบ้างก็อุ่นใจแล้ว


ฉันเข้าใจมาโดยตลอดว่าตัวเองเป็นคนรักการอ่านด้วยตัวเอง หรืออาจจะชอบอ่านหนังสือเพราะสมัยก่อนยังไม่มีอะไรให้เสพก็เท่านั้น จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งได้รู้ความจริงว่านิสัยติดหนังสือของตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วเป็นคนบ้าหนังสือเลย แต่เป็นการจัดวาง และความตั้งใจของพ่อล้วน ๆ


 

หนังสือ = ของเล่น

แม่เล่าว่าพ่อพยายามทำให้ฉันเข้าใจว่า “หนังสือ = ของเล่น” ด้วยการชวนอ่านนิทานก่อนนอน ซื้อการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก (มือสอง) ราคา 3 เล่ม 20 ให้อ่าน ค่อยๆ พาเข้าห้องสมุด และซื้อนิยายขนาดยาวเล่มแรกให้เป็นของขวัญตอนป. 4 และเล่มต่อ ๆ มาไม่ขาดสาย ซึ่งพอย้อนกลับไปคิดแล้วก็เห็นจะจริงอย่างที่แม่ว่า เพราะฉันนึกถึงของเล่นชิ้นโปรดของตัวเองแทบไม่ได้เลย ส่วนหนังสือเล่มโปรดนั้นเขียนได้ยาวหลายหน้ากระดาษ หนังสือ = ของเล่น จริงๆสำหรับฉัน และยังคงติดของเล่นที่ชื่อว่าหนังสืออยู่จนแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้แล้วก็ตาม


แม้ว่าฉันเพิ่งจะเข้าใจอิทธิพลที่ของเล่นมีต่อตัวเองเมื่อไม่นานมานี้ แต่สำหรับนักการศึกษาแล้ว ของเล่นเป็นเรื่องที่ถูกศึกษากันมาอย่างยาวนาน และมีทฤษฎีมากมายที่พยายามบอกถึงความสำคัญของการเล่นที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ปัจจุบันมีของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการมากมายออกมาในท้องตลาด ทั้งของเล่นที่พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ไปจนถึงของเล่นที่ช่วยส่งเสริมสมาธิ ชนิดที่สามารถมองข้างกล่องก็รู้ได้เลยว่าของเล่นแต่ละชิ้นมีขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านใดของลูกน้อย เด็กในปัจจุบันจึงราวกับจะมีทางเลือกและเครื่องไม้เครื่องมือมากมายในการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ อย่างเฉพาะเจาะจง


บางครั้งผู้ปกครองจึงอาจหลงลืมไปบ้างว่าการเล่นนั้นมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด และถ้าขาดไปจะถือว่าไม่ใช่การเล่นทันที นั้นคือ “ความสนุก”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีตัวช่วยในการพัฒนาศักยภาพของเด็กออกมาในรูปแบบที่เป็นของเล่นนานาชนิด บางครั้งผู้ปกครองจึงอาจหลงลืมไปบ้างว่าการเล่นนั้นมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด และถ้าขาดไปจะถือว่าไม่ใช่การเล่นทันที นั้นคือ “ความสนุก” การเล่นในหลาย ๆ กรณี (โดยที่ผู้ใหญ่เองก็อาจจะไม่ได้สังเกต) จึงเป็นการเล่นอย่างมีเป้าหมาย หรือมีการวางกรอบการเล่นเอาไว้ก่อน เช่น กำหนดให้วาดภาพครอบครัว วิวทิวทัศน์ หรือสัตว์เลี้ยงบางอย่าง ชวนเด็กอ่านหนังสือบางเล่มจนจบแล้วให้รางวัล หรือฝึกอ่านบัตรคำจำนวนมาก ๆ ก่อนนอน กิจกรรมเหล่านี้แม้จะส่งเสริมพัฒนาการหลายด้านของเด็กได้เป็นอย่างดีแต่ในทางกลับกันการเล่นในลักษณะนี้ก็อาจทำให้ทักษะบางอย่างขาดไปอย่างน่าเสียดายนั่นคือ “ทักษะการตัดสินใจ” และ “การเข้าใจความต้องการของตนเอง”


 

พ่อแม่ในฐานะ Play worker หรือ ผู้อำนวยการเล่น


ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้หมายความจะห้ามไม่ให้พ่อแม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเล่นของลูก หรือตามใจลูกจนให้เล่นได้ทุกอย่าง แต่เป็นข้อเสนอแนะให้มีการปรับบทบาทของพ่อแม่ในการเล่นกับลูกเท่านั้น เกี่ยวกับการปรับบทบาทของพ่อแม่นั้น


ในปัจจุบันมีนักการศึกษาจำนวนมากที่เสนอวิธีการเล่นกับลูกรูปแบบใหม่โดยการให้พ่อแม่ปรับบทบาทของตนเองให้อยู่ในฐานะ Play worker หรือ ผู้อำนวยการเล่น ซึ่งมีหน้าที่เป็นคนจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเล่น คอยดูแลความปลอดภัย คอยสังเกตการเล่นของลูก เพื่อให้มองเห็นศักยภาพและความถนัดของลูกที่เกิดขึ้นในระหว่างการเล่น และทำหน้าที่เป็นเพื่อนเล่น (co-player) ที่เป็นเพื่อนเล่นจริง ๆ คือเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกของเล่น กำหนดบทบาทในการเล่น กำหนดเวลาในการเล่น ร่วมกันตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกับพ่อแม่ และสนุกไปด้วยกัน (ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดแล้วของการเล่น) เช่น อาจจะถามลูกว่า วันนี้อยากเล่นอะไรดี หรืออาจชวนไปบางสถานที่ เช่น ชวนไปห้องสมุดแล้วให้เลือกหนังสือเอง ชวนเดินเล่นรอบบ้านแล้วหยิบสิ่งของใกล้ตัวมาสมมุติเป็นของเล่น


การเล่นในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะการตัดสินใจของลูก และใขณะเดียวกันก็ทำให้พ่อแม่ได้สังเกตเห็นอีกด้วยว่าลูกของตนเองชอบทำอะไร หรือมีทักษะใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษซึ่งจะช่วยให้การค้นพบตัวเองของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่อายุยังน้อย และจะค่อย ๆ ช่วยให้ลูกเคารพการตัดสินใจของคนอื่น ๆ รอบตัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทักษะการเข้าใจตัวเอง และผู้อื่น ตลอดจนการตัดสินใจที่เฉียบคมนั้นเป็นทักษะที่สำคัญไม่น้อยเลยในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล และ how to ในการใช้ชีวิตมากมายเช่นนี้


 

แต่นอกจากข้อดีมากมายที่ยกมาข้างต้นแล้ว โดยส่วนตัวฉันเห็นว่าการเล่นโดยเอาความสนุกเป็นที่ตั้งก่อนการพัฒนาการแบบนี้ไม่ได้ช่วยเพียงแค่พัฒนาทักษะการตัดสินใจ และความเข้าใจตนเองและผู้อื่นของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่เองได้ละวางความเป็นผู้ใหญ่ ละวางความเป็นพ่อแม่ที่มีบทบาทต้องดูแลลูกตลอดเวลากลับมาเป็นเด็กจริง ๆ อีกครั้ง ได้สนุก ได้เล่นโดยไม่ต้องคิดถึงประโยชน์ที่ได้จะตามมาเลย ฉันว่านี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการไม่แพ้กัน


#คุณครูไดโนเสาร์

bottom of page