การส่งคลิปวีดีโอสั้น ๆ ตลก ๆ ของลูกหลานน่าจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นิยมทำกันเป็นปกติในกลุ่มไลน์ของครอบครัวเพราะความน่ารักของคนตัวเล็ก ๆ ที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเรา หรือคนที่เรารักย่อมทำให้คนที่ได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์รู้สึกมีความสุข และหัวเราะได้ในทันที (อาจเพราะคนตัวเล็ก ๆ เหล่านั้นทำให้เรารู้สึกเหมือนกัลังมองตัวเองในกระจกแต่เป็นตัวเราที่น่ารักน่าเอ็นดูกว่าเราในตอนนี้ก็เป็นได้)
ในกลุ่มไลน์ครอบครัวของฉันก็เช่นกัน ล่าสุดเพิ่งมีคลิปสั้น ๆ ของหลานชายที่พูดชื่อตัวเองยังไม่ชัดดี แต่สามารถเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ได้หลายตัวแล้ว (แม้จะยังออกเสียงได้ไม่ชัดก็ตามที) ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถนี้ย่อมได้รับเสียงชื่นชมจากสมาชิกในครอบครัวทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวฉันเองซึ่งนอกจากจะชื่นชม และร่วมหัวเราะไปกับคนอื่น ๆ แล้วยังเป็นคนช่วยยืนยันอย่างหนักแน่นอีกด้วยว่าชื่อไดโนเสาร์ที่หลานชายเอ่ยออกมานั้นเป็นชื่อที่ถูกต้องในทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ
เรื่องราวที่ฉันเล่าให้ฟังข้างต้นเป็นเรื่องราวที่น่าจะเกิดขึ้นในหลายครอบครัวซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนต้องทึ่งและรู้สึกแปลกใจไม่ต่างกันที่จู่ ๆ สมาชิกตัวน้อยของครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในช่วงปฐมวัยอายุราว 2 - 6 ขวบ จะสามารถอธิบายเรื่องราวทางชีววิทยาของไดโนเสาร์ที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างถึงพริกถึงขิงชนิดที่สามารถพูดคุย และถกเถียงกับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องไดโนเสาร์ได้อย่างเป็นงานเป็นการ
ความนิยมไดโนเสาร์ในหมู่เด็ก ๆ เป็นปรากฏการ์ที่เกิดขึ้นซ้ำกันทั่วโลก
สังเกตได้จากการที่ของเล่นพลาสติกรูปไดโนเสาร์ไม่เคยขาดตลาด การมีการ์ตูน มีสารคดี มีหนังสือภาพเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่นับวันยิ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีการตีพิมพ์ให้ล้ำสมัยขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่จะต้องไปเสาะแสวงหาโครงกระดูกหรือหุ่นจำลองไดโนเสาร์ไปเป็นพระเอกประจำพิพิธภัณฑ์ เด็ก ๆ และไดโนเสาร์จึงดูราวกับจะเป็นของคู่กัน และเป็นคำถามในใจของผู้ใหญ่หลายคนมาตลอดว่าทำไมเด็ก ๆ จึงชอบไดโนเสาร์ และสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์มากมายขนาดนี้
พฤติกรรมของเด็กกับไดโนเสาร์ถูกศึกษามานานหลายสิบปีแล้วจากทั้งคนทำงานพิพิธภัณฑ์ นักจิตวิทยา หรือนักการศึกษาจนกระทั่งเกิดข้อสันนิษฐานหลากหลายประการ นอกจากเรื่องของรูปร่างที่แปลกประหลาดชวนให้พิศวงของไดโนเสาร์ที่นับได้ว่าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กสนใจไดโนเสาร์
ยังมีข้อสรุปหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญที่น่าสนใจนั่นคือ ไดโนเสาร์มักจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กรู้สึกมีความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกมีอำนาจมากขึ้น ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะว่าของเล่น หรือเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ที่สูญพันธ์ไปแล้วจะทำให้เด็กรู้สึกถึงความมีอำนาจในตัวเองได้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายเกี่ยวกับเรื่องความมั่นใจและอำนาจของเด็กที่เกิดจากไดโนเสาร์ว่า ด้วยประสบการณ์ในชีวิตที่ไม่มากนักทำให้โดยปกติเด็กมักจะต้องตกอยู่ภายใต้การดูแล และคำแนะนำจากผู้ใหญ่เสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มักเป็นไปในลักษณะที่เด็กต้องเป็นผู้รับคำสั่ง ได้รับการอนุญาต หรือได้รับคำยืนยันจากผู้ใหญ่เสมอว่าสิ่งที่เด็กคิดถูกหรือผิด ซึ่งถ้าเป็นเรื่องโดยทั่ว ๆ ไปผู้ใหญ่ก็มักจะสามารถตัดสินได้ทันทีว่าแต่ละเรื่องควรทำอย่างไร แต่เรื่องความรู้เกี่ยวกับไดโเนสาร์นั่นต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเพราะผู้ใหญ่จำนวนมากย่อมไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ไปแล้วอย่างไดโนเสาร์มากมายนัก
สำหรับผู้ใหญ่แล้วไดโนเสาร์อยู่ในฐานะของแปลกที่กินก็ไม่ได้ แถมยังไม่สามารถไปดูของจริงได้ที่ไหนอีกด้วย สถานะของไดโนเสาร์สำหรับผู้ใหญ่แล้วจึงมีค่าไม่ต่างจาก นกฟลามิงโก หมีแพนด้า หรือนกเพนกวิน ดังนั้นเมื่อเด็กแต่ละคนเริ่มเล่าเรื่องไดโนเสาร์ที่ตัวเองรู้จักให้ผู้ใหญ่ฟังอย่างจริงจัง ผู้ใหญ่จึงทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากฟัง เชื่อ และแสดงความชื่นชมเท่านั้น
ความชื่นชมของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กในเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์นั่นต่างจากความชื่นชมเมื่อเด็กทำตามคำสั่งได้อย่างถูกต้อง หรือทำพฤติกรรมที่น่ารักตรงตามความคาดหมายของผู้ใหญ่ แต่เป็นความชื่นชมในฐานะผู้ที่มีความรู้มากกว่า เข้าใจเรื่องราวมากกว่า และเป็นความชื่นชมที่ไม่มีข้อกังขาเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นทันทีที่ได้อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์เด็ก ๆ จึงรู้สึกถึงความมีอำนาจในตัวเองในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า และเป็นผู้ที่มีความรู้มากกว่าผู้ใหญ่ทันที ความมีอำนาจนี้ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจในตนเองมากขึ้น และยิ่งสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์มากขึ้นไปอีก เด็ก ๆ จำนวนมากจึงยิ่งผูกพันธ์กับไดโนเสาร์มากขึ้นเรื่อย ๆ
จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของความสนใจไดโนเสาร์ของเด็กนั้นอาจเริ่มจากรูปร่างหน้าตาอันแปลกประหลาดไม่ต่างจากสัตว์ในเทพนิยาย หรือตำนานปรัมราตัวอื่น ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตในตำนวนเหล่านั้นไม่อาจเทียบได้กับไดโนเสาร์่นั่นก็คือ เรื่องราวของไดโนเสาร์ไม่ใช่ตำนานที่ยังมีข้อสงสัยนานับประการ แต่สามารถเดินทางไปดูซากโครงกระดูกของไดโนเสาร์จริง ๆ ได้จริงที่หลุมขุดไดโนเสาร์หรือไปสามารถไปลงมือขุดค้นด้วยตนเองได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นองค์ความรู้ที่เด็กเป็นเจ้าของจึงยิ่งได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องอย่างไม่มีข้อสงสัย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้ใหญ่หลายคนที่ถูกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิทยาศาสตร์ที่พวกผู้ใหญ่เองก็เชื่อมั่นในองค์ความรู้มาคอยเป็นกำลังเสริมช่วยยืนยันอีกด้วยว่าความรู้ที่เด็ก ๆ มีนั่นถูกต้องแล้ว ความรู้สึกมั่นใจ และความรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจในตัวเองของเด็กก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
มองไปให้ไกลอีกหน่อยบางทีเรื่องราวเกี่ยวกับความผูกพันธ์ของไดโนเสาร์กับเด็ก ๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างแน่นแฟ้นเพราะการได้รับความเคารพในความคิดเห็นที่ผู้ใหญ่มอบให้เด็กอย่างจริงใจมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ เรื่องราวดังกล่าวจึงน่าจะเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ต้องการการยอมรับ และการเคารพความคิดเห็นมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของคนที่อ่อนประสบการณ์มากเพียงใดก็ตามจึงควรจะต้องถูกรับฟังอย่างตั้งใจ และจริงใจไม่ต่างกัน
#คุณครูไดโนเสาร์
Comentarios