top of page

กิเลสของคนปลูกต้นไม้



เวลาที่คนเราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มักมีสาเหตุคือการกระทำนั้นกำลังตอบสนองความต้องการบางอย่างที่อยู่ข้างใน มีทั้งที่สนองความต้องการพื้นฐาน (เพื่อให้มีชีวิตรอด) และมีที่ตอบสนองความต้องการของใจด้วย


กินก็เพราะหิว = สนองพื้นฐาน

เลือกของกินก็เพราะอยากอร่อย = สนองใจ


นอนหลับก็เพราะง่วง = สนองพื้นฐาน

เลือกที่นอนก็เพราะอยากนอนสบาย = สนองใจ


คนส่วนใหญ่อาจมองว่าคนปลูกต้นไม้เป็นคนใจดี ใจเย็น มีแนวโน้มจะแผ่ความรักความเมตตาให้ทุกคนได้ แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนปลูกต้นไม้มือใหม่ที่ยังไม่ได้ฝึก “วาง ใจ” มันอาจยังมีบางอย่างที่รุนแรงอยู่ในนั้น เป็นความพร้อมที่จะเกรี้ยวกราด ทะเลาะ และโจมตีเมื่อใดก็ตามที่ต้นไม้กำลังจะถูกทำร้าย

มีสารเคมีในสมองชนิดหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความรักในพวกพ้อง สารเคมีชนิดนี้คือตัวเดียวกันกับที่ทำให้เราเกลียดชังคนอื่น เมื่อเราได้รับสารเคมีชนิดนี้เราจะยิ่งรู้สึกสนิทแนบแน่นในกลุ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็พร้อมจะทำร้ายคนที่อยู่นอกกลุ่มมากขึ้นด้วย น่าแปลกไหมที่ความเกลียดชังมีต้นตอเดียวกันกับความรัก


ลองสำรวจคุณภาพอารมณ์ว่าอะไรทำให้คนปลูกต้นไม้รักต้นไม้ โอ สาเหตุมีหลากหลาย ตั้งแต่ความภูมิใจที่ได้ช่วยไกอา ความสดชื่นที่ได้ตื่นมาพบต้นไม้ในตอนเช้า ความสนุกที่ได้อวดเพื่อนในโซเชียล แต่ที่น่าสนใจสำหรับเราคือ “การได้เห็นการเติบโต”


ความสุขที่ได้เห็นเมล็ดงออกออกมาเป็นต้นอ่อน ได้เห็นต้นไม้แตกกิ่ง ผลิใบ ออกดอก ได้เห็นต้นไม้แข็งแรงขึ้นทุกวัน เป็นคุณภาพของใจที่ดูดีเชียว


เบื้องใต้ความสุขจากการได้เห็นการเติบโต เชื่อไหมว่ามีจิตวิญญาณของคนปลูกเติบโตอยู่ในต้นไม้ มันเป็นการถ่ายทอดตัวตนลงไป เรากับเพื่อนเคยใช้คำว่า “การสืบพันธุ์ทางสังคม” เป็นการถ่ายทอดอุดมการณ์หรือความเชื่อผ่านตัวหนังสือหรือผ่านสื่อหรือผ่านการอบรมบ่มเพาะคนอื่น (แบบเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมและครูกำลังทำ) แม้ดีเอ็นเอและเซลล์สืบพันธุ์จะไม่ได้เคลื่อนไปไหน แต่ความคิดและอุดมการณ์ของคนคนนั้นก็ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปในคนอื่น


ในการปลูกต้นไม้ เราขอเรียกมันว่าเป็น “การสืบพันธุ์ทางจิตวิญญาณ”

ทำไมเราถึงต้องการให้จิตวิญญาณได้สืบพันธุ์ การถ่ายทอดตัวตนลงไปในสิ่งอื่นมันคือการรักษาตัวตนเอาไว้รูปแบบหนึ่ง สิ่งที่ทำงานภายในนั้นคือความกลัวว่าตัวเองจะสูญสิ้น กลัวว่าความคิดของตัวเองที่เคยคิดมาจะสูญเปล่า กลัวว่าช่วงเวลาที่ตัวเองเกิดมาจะไม่มีค่า


กลายเป็นว่าการปลูกต้นไม้มันเชื่อมโยงกับ “ความกลัวตาย”


ถ้าย้อนกลับไปดูว่าการบ่มเพาะการเติบโตกำลังตอบสนองความต้องการพื้นฐานเรื่องการมีชีวิตรอดหรือมันกำลังสนองความต้องการเสริมของใจ คำถามนี้กลับตอบได้ไม่ง่ายแล้ว เพราะมันไม่ได้ทำงานกับพื้นฐานร่างกายแบบกายภาพอย่างเดียว


เพราะถึงไม่ทำก็อาจมีชีวิตรอด (ในกรณีที่มองว่าชีวิตคือร่างกาย) หรือถ้าไม่ทำก็อาจจะไม่รอดก็ได้ (ในกรณีที่มองว่าชีวิตคือจิตวิญญาณ)

bottom of page