top of page

นักรบย่อมมีบาดแผล (I)

ก่อนอื่น ต้องเริ่มเล่าก่อนว่า ตอนสมัยเรียนมหา’ลัย background ของเราคือ รัฐศาสตร์ IR (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ/การทูต แล้วแต่คนจะเรียกเนอะ) ซึ่งสาเหตุที่มาเรียนคณะนี้ ก็ไม่ได้จากความสนใจในการเมืองตั้งแต่ต้น แต่มาเรียนเพราะว่าไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก เพราะจบศิลป์ภาษามา ต่อให้เป็นคณะที่กึ่งๆ ถูกบังคับให้เลือก แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนึงของเราเลย และเราคิดว่าตัวตนบางส่วนของเราตอนนี้ ก็เหมือนได้ถือกำเนิดขึ้น ตอนที่มาเรียนในสายนี้นี่แหละ



มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำตัวดีขึ้นได้ แต่ก็ทำเพราะตัวเองได้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่เรานั่งบ่นว่าทำไมนักการเมืองไม่ทำแบบนี้ ทำไมผู้นำประเทศนั้นไม่ตัดสินใจแบบนั้น เราคิดว่าเหตุผลมันก็ชัดอยู่แล้วว่าเขาทำแบบนี้เพราะเขาได้ประโยชน์

คนหลายคนที่ไม่ค่อยเข้าใจความเป็นรัฐศาสตร์ มักจะเหมารวมว่าเด็กที่จบคณะนี้ จะชอบการเมืองหรือใช้เวลาในการเรียนรู้เรื่องกฎหมาย (บางคนยังแยกนิติศาสตร์จากรัฐศาสตร์ไม่ค่อยออก) หรือ อินกับการถกประเด็นนโยบาย การเปลี่ยนแปลงในรัฐสภา ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือ แม้แต่จับตาดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำในประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวเราไม่ค่อยอินกับเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะถูกเหมารวมว่าเป็นพวก ignorant (พวกไม่แยแสความเป็นไปของโลก) ขอบอกก่อนว่าเราตามข่าวบ้าง และการเรียนในรัฐศาสตร์ทำให้ตามข่าวเหล่านี้เข้าใจง่ายขึ้น บางทีก็มีโอกาสอธิบายให้คนรอบๆ ข้างบ้าง แต่เราแค่ไม่ได้ใช้เวลากับการอ่านข่าวทุกวัน ทั้งวัน และก็ไม่ได้สนุกกับการคุยหัวข้อพวกนี้ เพราะเรามีเรื่องอื่นที่เราสนใจ และมีหลายๆ อย่างที่เราอยากทำ


เราอาจจะค่อนข้างต่างจากภาพที่หลายคนคิดว่าเด็กรัฐศาสตร์ควรจะเป็น เพราะเราไม่สามารถรู้สึกอินกับการนั่งในวงกาแฟ พูดคุยกันว่านักการเมืองควรจะต้องทำยังไง ใครเดินเกมเก่งไม่เก่ง ถ้านโยบายนี้ออกมาหุ้นจะขึ้นหรือตก ใครจะนั่งเก้าอี้นายกหลังจากนี้ ส่วนหนึ่งลึกๆ คือ ตอนที่เราเรียน กรอบการมองโลกที่มีอิทธิพลกับเรามาก จะเป็นมุมมองที่ค่อนข้างมองธรรมชาติของมนุษย์แบบสิ้นหวัง โลกมันแย่ มนุษย์โลภและบ้าอำนาจ มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำตัวดีขึ้นได้ แต่ก็ทำเพราะตัวเองได้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่เรานั่งบ่นว่าทำไมนักการเมืองไม่ทำแบบนี้ ทำไมผู้นำประเทศนั้นไม่ตัดสินใจแบบนั้น เราคิดว่าเหตุผลมันก็ชัดอยู่แล้วว่าเขาทำแบบนี้เพราะเขาได้ประโยชน์ (ไม่ว่าเขาจะมองถูกหรือผิดอ่ะนะ) ต่อให้เข้าใจว่าการตัดสินใจของคนมีอำนาจมันส่งผลกับเราได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่บ่อยครั้งเราเลือกที่จะรับฟังข้อมูล วางแผนว่าจะใช้ชีวิตยังไงต่อ ไม่อยากจะเสียเวลานานๆ บ่นว่าอะไรควรจะเป็นแบบไหน สุดท้ายก็เป็นการระบาย การถกเอาสนุกในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดอยู่ดี เพราะคนตัดสินใจไม่ใช่เรา ยังไงถ้ามันไม่ใช่ประโยชน์ของเขา เขาก็ไม่ฟังเราหรอก



เกมไม่ได้อยู่ในรัฐสภาหรือเวทีเจรจาระหว่างประเทศ เราอยู่บนกระดาน เราเป็นหมากตัวหนึ่ง และเราเดินเกมเพื่อปะทะ หลบหลีก หรือรับมือกับหมากตัวอื่น

ในทางตรงกันข้าม ส่วนมากเราให้ความสนใจเรื่องประสบการณ์ส่วนตัว วัฒนธรรม วิถีชีวิต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ สิ่งที่สื่อนำเสนอ ซึ่งเราคิดว่าทุกที่มันมีอำนาจแฝงอยู่ (พูดง่ายๆ หมายถึง “ความสามารถที่จะทำให้ใครทำอะไรสักอย่างได้ตามใจเรา”) อย่าง เวลาเราเห็นเด็กร้องไห้แบบหรี่ตามองว่ามีคนกำลังดูอยู่มั้ย เรารู้ละว่าเด็กคนนี้เรียนรู้ที่จะใช้ความเปราะบางในฐานะเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่สนใจ (ซึ่งเราจะเบ้ปากใส่เด็กคนนั้น) หรือ เวลาใครทักมาว่า “คิดถึงจังเลย” เรารู้ละว่ามันเป็นคำโปรย ก่อนที่จะมีคำขอร้องให้เราช่วยทำอะไรให้สักอย่าง เพราะคนพูดเข้าใจว่า การแสดงความเป็นมิตรเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้อีกคนยอมทำอะไรให้โดยไม่รู้สึกว่าถูกสั่ง ซึ่งเรื่องพวกนี้เรามองว่ามันใกล้ตัวเรามากกว่า เราสนใจว่าชีวิตในแต่ละวัน จะเอาตัวรอดจากการหลอกลวง การโดนเอาเปรียบยังไงได้บ้าง เราจะรับมือยังไง ถ้าคนบางคนมีตรรกะวิบัติแต่ใช้อายุที่มากกว่าหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่ตรงตามพิมพ์นิยม มาทำให้พฤติกรรมตัวเองถูกต้อง เราจะจัดการตัวเองยังไงถ้าเราเสียความมั่นใจเพราะชีวิตเรามันไม่ได้เหมือนสิ่งที่เราเห็นจากสื่อ หรือ เพียงแค่เพราะป้าแถวบ้านทักอะไรบางอย่างขึ้นมา เราคิดว่าจากการเรียนรัฐศาสตร์ เราได้เครื่องมือสำคัญที่เราใช้เอาตัวรอดในสังคมได้ สำหรับเรา เกมไม่ได้อยู่ในรัฐสภาหรือเวทีเจรจาระหว่างประเทศ เราอยู่บนกระดาน เราเป็นหมากตัวหนึ่ง และเราเดินเกมเพื่อปะทะ หลบหลีก หรือรับมือกับหมากตัวอื่น ซึ่งเราให้ความสนใจเกมที่ตัวเราเองเป็นผู้เล่นมากกว่า


อย่างที่บอกว่า มุมมองของเราที่ได้จากการเรียนรัฐศาสตร์ คือ การไม่ไว้ใจใครและระแวดระวังคนรอบตัวเสมอ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการอยู่ในกลุ่ม จุดเริ่มต้นของเราเป็นคนที่อินกับการอยู่เป็นกลุ่มนะ และเชื่อด้วยว่าการทุ่มเทให้คนอื่น อย่างสุดจิตสุดใจจะทำให้เราได้เพื่อนที่ดี หรือได้กลุ่มเพื่อนที่พร้อมช่วยเหลือเราเสมอ ถึงขั้นที่เรายอมโกหกเพื่อกีดกันคนที่กลุ่มไม่ชอบออกไป หรือเกลียดคนที่เพื่อนเราไม่ชอบ ทั้งๆ ที่ คนๆ นั้นก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ประสบการณ์ก็พิสูจน์กับเราว่าโลกมันไม่ได้ทำงานแบบที่เราเคยเชื่อ บ่อยครั้งเราก็โดนกลุ่มทิ้ง เป็นคนสุดท้ายที่คนในกลุ่มนึกถึงถ้าเขามีความสุข และเป็นคนแรกๆ ที่คนเข้าหาถ้าอยากขอให้ใครช่วย จนเราเชื่อเสมอว่า “การทำดีทำให้เราป็นคนดี แต่ไม่ได้เป็นคนพิเศษ ไม่ใช่ตัวเอก เป็นแค่ตัวประกอบที่เป็นคนดี ยืมปรบมือไปสิ ยิ้มรับบทตัวประกอบไป และยินดีกับตัวเอกที่ทำอะไรๆ ก็ถูก ก็งาม แม้ว่าตัวเอกนั้นจะไม่ได้แคร์ใครเลยก็ตาม"


เราจะยิ้มเยาะทุกครั้งเวลาโดนหักหลัง โดนทิ้ง และโดนเอาเปรียบ เราจะบอกกับตัวเองเสมอว่า “อืม คาดไว้ไม่ผิด” นั่นคือเหตุผลสำคัญที่คำอธิบายว่า “มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่น่ารังเกียจ” จึงโดนใจเรามากที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นเราเลยเป็นคนที่ไม่ศรัทธาในการอยู่เป็นกลุ่ม เราเริ่มพาลเกลียดพฤติกรรมแห่ วัฒนธรรมแมส และมองว่าการที่คนยอมทำอะไรตามๆ กันเพียงแค่ให้ไม่เหงา เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะเราไม่เคยได้รับโอกาสให้อยู่ในกลุ่มที่เห็นคุณค่าเราจริงๆ เราเริ่มสนใจกับการเอาตัวรอดด้วยตัวเองมากขึ้น ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พึ่งพาคนอื่นให้น้อย


มุมมองแบบ “me against the world” ทำให้เรามีแรงที่จะสู้กับทุกอย่าง พัฒนาความสามารถตัวเอง เอาชนะความกลัวของตัวเอง ก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อที่จะหนีออกจากสังคมที่เราเกลียด


การได้อยู่ในสายรัฐศาสตร์ สำหรับเรา มันเหมือนเป็นยานะ แต่มันไม่ใช่ยาที่ทำให้หายเจ็บ มันเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้ความขมขื่นในอดีต กลายเป็นตัวตนของเราขึ้นมา เราเอาความโกรธจากอดีตมาเป็นเชื้อเพลิงในการสู้ พัฒนาตัวเอง ตอบโต้กลับเวลาโดนเอาเปรียบ และด้วยความที่เราไม่คิดว่าตัวเองต้องพึ่งใคร เรามักตัดความสัมพันธ์จากคนอื่นได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเพราะอีกฝ่ายไม่แฟร์กับเรา ทำให้เราเสียความรู้สึก หรือ เพียงแค่เพราะว่าต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตัวเองและไม่น่าจะต้องกลับมาเจอกันอีกแล้ว มุมมองแบบ “me against the world” ทำให้เรามีแรงที่จะสู้กับทุกอย่าง พัฒนาความสามารถตัวเอง เอาชนะความกลัวของตัวเอง ก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อที่จะหนีออกจากสังคมที่เราเกลียด เราบอกกับตัวเองเสมอว่า “ถ้าล้ม จงลุกและสู้ทันที เพราะคนอื่นๆ บนโลกใบนี้ไม่ได้แคร์เราหรอก เขาสนใจเฉพาะคนที่อยู่ในแสงไฟ จะนั่งงอแงให้คนพวกนั้นมาหัวเราะเยาะเหรอ พิสูจน์ให้พวกนั้นเห็นสิว่า เราอยู่ได้โดยไม่ต้องง้อเขา” ซึ่งเราคิดเสมอว่านี่คือนิยามของความแกร่ง คนที่แข็งแรงคือคนแบบนี้ เราเป็นนักสู้ เราโตจากบาดแผลได้ และเราไม่ใช่เหยื่อของพวกนั้นอีกแล้ว


จนเมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มเห็น “นักสู้” คนนี้ในมุมที่ต่างออกไป

บางทีนักสู้คนนี้ อาจจะไม่ได้แกร่งอย่างที่เราเข้าใจก็ได้

อาจจะเป็นเหยื่อเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน



 

Space for Vent - ที่ว่างให้เล่า

By smhynx: "เราอยากให้ Space for Vent เป็นพื้นที่ที่เราได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวของเราเอง เพราะตอนที่เราอยู่ในฟิลด์ที่มีความเป็นวิชาการมากๆ เราค่อนข้างมีข้อจำกัดในการเล่าเรื่องต่างๆ ส่วนหนึ่งเพราะเราต้องวางตัวเป็นต้นแบบ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องเอาทฤษฎีและแนวคิดของนักคิดที่มีชื่อ มาสนับสนุนสิ่งที่เราอยากเล่าตลอดเวลา ซึ่งในบางครั้งเราแค่อยากจะแชร์เรื่องราวของเราเองในฐานะคนๆ นึง ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในฟิลด์เดียวกับเราได้"

bottom of page