ในสังคมไทยมักใช้คำสุภาษิตสร้างค่านิยมไว้ตักเตือนและสั่งสอนคนไทยมายาวนาน จากคำสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า การลงโทษด้วยการตีจะทำให้ลูกเชื่อฟังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จึงนำวิธีการนี้สั่งสอนและเลี้ยงดูเด็กทั้งในบ้านและโรงเรียน รวมถึงคนรุ่นก่อนเชื่อกันว่าไม้เรียวสร้างคนให้เป็นคนดี พ่อแม่จึงยินยอมให้ครูตีบุตรหลานของตนได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมีเรื่องของสิทธิเด็กที่ทุกคนควรตระหนักถึงและให้ความสำคัญ ค่านิยมในสังคมไทยควรเปลี่ยนใหม่โดยหยุดการลงโทษที่ใช้ความรุนแรง
การลงโทษเป็นรูปแบบการควบคุมพฤติกรรมซึ่งหยุดยั้งการประพฤติผิดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ไขและไม่เกี่ยวข้องกับต้นเหตุของปัญหา[1] หากมีความจำเป็นต้องใช้การลงโทษ ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับความผิดที่เกิดขึ้น ต้องให้เด็กเข้าใจและการลงโทษต้องมีเหตุผลอย่างเพียงพอ ต้องกระทำอย่างยุติธรรม ไม่ใช้วิธีที่รุนแรงหรือดุร้าย เพราะการลงโทษโดยการใช้ความรุนแรงไม่ได้ทำให้เกิดผลดีตามมา แต่เป็นการทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเชิงลบ ทั้งในด้านพฤติกรรมและพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรม เด็กเกิดการวิตกกังวลขาดความมั่นคงทางอารมณ์ มีอารมณ์ตึงเครียด มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเก็บตัว ส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน และมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ[2]
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่และครูในโรงเรียนยังคงจำเป็นที่จะต้องมีบทลงโทษเมื่อเด็กไม่เชื่อฟังหรือประพฤติพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักการรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีหรือใช้ความรุนแรง แต่ควรเปลี่ยนเป็นการลงโทษอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหยุดพฤติกรรมเชิงลบของเด็กอย่างถาวร
จากประเด็นปัญหาในสังคมไทย “ครูใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน” ในข่าวที่ครูทำร้ายร่างกายเด็ก พบว่า ประเด็นครูทำร้ายเด็ก เป็นการใช้อำนาจความรุนแรงกดขี่ เข้าข่ายคดีอาญาทำร้ายร่างกายและผิดกฎหมายคุ้มครองสิทธิของเด็ก จึงสร้างผลเสียทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเชิงลบทั้งในด้านพฤติกรรมและพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก ในด้านพฤติกรรมเด็กที่ถูกทำร้ายมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยมีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรง ส่วนในด้านพัฒนาการด้านจิตใจ เด็กที่ถูกทำร้ายจะมีพฤติกรรมไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน เกิดความวิตกกังวลมีอารมณ์ตึงเครียด และมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน ดังนั้นควรได้รับวิธีการแก้ไขปัญหาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การดูแลและการพัฒนาหลักสูตรรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย
เมื่อเด็กเกิดพฤติกรรมเชิงลบที่มักก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง และพัฒนาการด้านจิตใจที่เกิดความวิตกกังวล มีอารมณ์ตึงเครียด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลและรูปแบบการลงโทษตามหลักพลังกลุ่ม ซึ่งพบว่ามนุษย์จะหลั่งสารออกซีโทซิน (oxytocin) ที่เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันในครอบครัว คู่รัก เพื่อน และคนในสังคม
สารเคมีชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุของความไม่ไว้วางใจ ความอิจฉา ความเกลียดชัง ความลำเอียง และความก้าวร้าวที่กระทำต่อผู้อื่น เมื่อเด็กถูกครูใช้ความรุนแรงและเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ครูได้ปฎิบัติกับเด็กเป็นเวลานาน จึงอาจคิดว่าพฤติกรรมความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรม ฮอร์โมนเทสโทรเทอโรน (testosterone) จึงสนับสนุนให้เกิดการแสดงพฤติกรรมความก้าวร้าวและความรุนแรง เมื่อเด็กมีฮอร์โมนประเภทนี้อยู่มากทำให้เกิดความเครียดและความต้องการที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความเครียด นำไปถึงการการกระทำก้าวร้าวใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพื่อทดแทนความรู้สึกที่ขาดหายของตนเอง[3]
การแก้ไขปัญหาจึงอาจทำได้โดยต้องมีการตรวจสอบครูอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ต้องเอาจริงเอาจังในกระบวนการติดตามและการลงโทษครูผู้ที่กระทำความผิด และกระตุ้นให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีใจเปิดกว้าง ตั้งแต่กระบวนการผลิตครูซึ่งต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธียิ่งขึ้น ปลูกฝังเรื่องสิทธิเด็ก วิธีการดูแลชั้นเรียนโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยที่ครูจะต้องมีวิธีในการดูแลและปฏิบัติพฤติกรรมให้เหมาะสมเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเด็ก รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงโทษอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหยุดพฤติกรรมเชิงลบของเด็กให้พ่อแม่และครูเข้าถึงและเข้าใจหลักการเลี้ยงดูเชิงบวก เช่น การทำโทษด้วยการออกกำลังกาย ในรูปแบบการกำหนดเวลาจริงจังทำให้เด็กเหนื่อยและไม่สนุกเหมือนวิ่งเล่นตามอัธยาศัย การลงโทษด้วยการออกกำลังกายเป็นการลงโทษที่สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายให้เด็กอีกด้วย และการลงโทษด้วยการลดเวลาเล่นสนุก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมพ่อแม่และครูควรที่จะลดเวลาเล่นสนุกของเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ผลกระทำของตนเองเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่ดีจะส่งผลต่อช่วงเวลาแห่งความสุขของตน ดังนั้นเด็กจะพยายามปรับพฤติกรรมของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องบังคับ เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลใส่ใจด้วยความรักและลงโทษด้วยการเสริมสร้างพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์จะส่งผลดีต่อตัวเด็ก ทำให้เกิดสภาพด้านพฤติกรรมและด้านจิตใจที่ดีตามมา
การพัฒนาการศึกษาไทยต้องส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กควบคู่กับการยกระดับหลักสูตรและคุณภาพครูไปพร้อมกัน วิธีการแก้ไขปัญหา คือ การส่งเสริมและทำตามนโยบายยกระดับคุณภาพครูและพัฒนาคุณภาพหลักสูตรการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหาของครู แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะก่อนเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบการผลิตครูที่เน้นปริมาณแต่ขาดศักยภาพพอให้ครูรุ่นใหม่จบมาพร้อมตอบโจทย์กับห้องเรียนยุคปัจจุบัน 2) ระยะหลังเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบอบรมครู เน้นสร้างการอบรมที่เปิดโอกาสให้ครูเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจตลอดจนผลักดันให้ครูชำนาญการที่มีอายุงานเยอะผันตัวเป็นผู้ฝึกสอน การแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพหลักสูตรการเรียนรู้ คือ การสร้างหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากขึ้น เพื่อประกันการจบมามีงานทำเน้นสมรรถนะวิชาชีพและทักษะชีวิตมีการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนพัฒนาและปรับหลักสูตรให้เท่าทันโลกาภิวัตน์ปัจจุบันการศึกษายังมีการยึดติดกับความรู้มากกว่าทักษะ
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กจะต้องพัฒนาตามหลักการของศาสตร์แห่งสมองเพื่อการเรียนรู้ ร่างกายและสมองเป็นพื้นฐานของความพร้อมของเด็กในการออกแบบและการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงการเติบโตและพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งที่สำคัญ จากนั้นจึงเป็นเรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมให้สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการพัฒนา เพื่อเด็กจะได้พัฒนาทักษะและศักยภาพที่ตนเองมีให้ดียิ่งขึ้น การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ถูกกระตุ้นได้ด้วยความท้าทาย และจะถูกรบกวนเมื่อกลัวหรือหมดหวัง จึงสอดคล้องกับที่ว่าถ้าครูมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กจะส่งผลให้พฤติกรรมเชิงลบของสภาพด้านจิตใจเกิดความกลัว ความเครียด ทำให้เด็กปิดกั้นความสุข ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่ง ไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก[3]
การเล่นเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะของเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ช่วยส่งเสริมความมีปฏิสัมพันธ์ในช่วงวัยเดียวกันและยังเป็นการช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ทำให้สามารถปรับตัวในยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการตีกรอบความเป็นอิสระ ในการผจญภัยไปในความคิดและการลงมือทำจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ การที่มองเห็นความสำคัญและส่งเสริมในการเล่นแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะช่วงเวลา 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาของชีวิตที่สมองจะมีการพัฒนามากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้สั่งสมความรู้และพัฒนาการให้พร้อมกับการเลี้ยงดู[4]
โครงการวิจัยนวัตกรรมรูปแบบการส่งเสริมการเล่น เพื่อพัฒนาส่งเสริมพัฒนาการและทักษะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมการเล่นและการจัดกิจกรรมทางกายให้เด็กมีความแข็งแรงทั้งกายร่างกายและจิตใจ โดยกิจกรรมทางกายนี้องค์การอนามัยโลก ยังชี้ชัดว่าช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านความสุขและสมอง ทั้งยังช่วยส่งเสริมทักษะและความพร้อมในการเข้าเรียนเมื่ออายุ 7-8 ปี ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีช่วงโอกาสยิ่งยวด (critical periods) หากพ่อแม่และครูใช้ความรุนแรงกับเด็ก ซึ่งจะทำให้ส่งผลความล่าช้าในการพัฒนาการของระบบประสาทของมนุษย์ ความล่าช้าดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญคือการพัฒนาทางด้านจิตใจความสามารถด้านจิตใจของมนุษย์จะได้รับการก่อร่างขึ้นด้วยประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม ในการเล่นหรือทำกิจกรรม ซึ่งทำให้มนุษย์แต่ละคนได้พัฒนาความสามารถต่าง ๆ ได้อย่างเจาะจงและมีเอกลักษณ์ ระบบประสาทจะมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่เปลี่ยนไป
“ช่วงอ่อนไหว” ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตถูกกีดกันจากสิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ในวัยเด็ก ส่งผลต่อความสามารถของมนุษย์ได้อย่างร้ายแรงโดยไม่สามารถย้อนกลับ ทำให้เห็นว่าประสบการณ์ในวัยเด็กส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคมตลอดชีวิต ซึ่งช่วงโอกาสยิ่งยวดในการสังเกตพฤติกรรมหรือความสามารถของมนุษย์ในการเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมช่วยยืนยันได้ว่า ประสบการณ์ที่เหมาะสมในช่วงโอกาสยิ่งยวดมีความสำคัญมากในการพัฒนาทักษะและความสามารถที่จะทำให้มนุษย์สามารถเติบโตและใช้ทักษะต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์[3]
ครูจึงควรใช้ประโยชน์จากช่วงโอกาสยิ่งยวดในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้ลองสิ่งใหม่ ๆ ฝึกทักษะใหม่ ๆ ผ่านการลงมือทำให้มีความเหมาะสมต่อช่วงวัยต่าง ๆ เพื่อให้เด็กไทยเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์
#ปณิษฐา
เอกสารอ้างอิง
[1] กาญจนา ศรีกาฬสินธุ์. (2533). การบริหารกิจการนักเรียน. (พิมพ์ครั้งที่สอง).
กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
[2] พรรณี, ชูทัย, และเจนจิต. (2538). จิตวิทยาการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : ต้นอ้อ แกรมมี่.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนะธรรมแห่งชาติ. (2537). การเสริมสร้างวินัย คู่มือแนะแนว
ทางปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว.
[3] อัครา เมธาสุข. (16 ตุลาคม 2566). เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชาประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษา เรื่องช่วงโอกาสยิ่งยวด.
ปทุมธานี: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, น. 3-5 และ น. 20-26.
อัครา เมธาสุข. (30 ตุลาคม 2566). เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชาประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษา เรื่องหลักการพลังกลุ่ม มิตรภาพและความเกลียดชัง.
ปทุมธานี: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, น. 11-14.
อัครา เมธาสุข. (13 พฤศจิกายน 2566). เอกสารประกอบการเรียนการสอน
วิชาประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษา เรื่องNeuro-education ศาสตร์แห่งสมองเพื่อการเรียนรู้.
ปทุมธานี: คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, น. 5-17.
[4] ณัฐยา บุญภักดี. (30 มีนาคม 2565). เสริมพัฒนาการ เปลี่ยนเรื่อง ‘เล่น’ เป็น ‘ทุน’ สร้างทักษะแห่ง
ศตวรรษที่ 21. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566 , จาก https://workpointtoday.com/220330-2/
Comments